บอร์ด กนอ.เร่งรัดการพัฒนาโครงการนิคมสมาร์ทปาร์ก 1,500 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เสร็จเร็วขึ้นจากแผนเดิมที่กำหนดไว้ในปี 2565 หากเป็นไปได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำ EIA ล่าสุดผนึกกำลังรัฐวิสาหกิจเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ
น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ก (Smart Park) ว่าเมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) กนอ.ได้มอบหมายให้ กนอ.เร่งรัดการพัฒนานิคมฯ ดังกล่าวให้เกิดขึ้นเร็วขึ้นซึ่งมีพื้นที่ 1,500 ไร่ ตั้งอยู่ในนิคมฯ มาบตาพุด จ.ระยอง เงินลงทุนทั้งสิ้น 12,000 ล้านบาท แต่เฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน 2,800 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S Curve) ที่ขณะนี้มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติสนใจมากกว่า 5 ราย
“แผน กนอ.กำหนดไว้ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ในปี 2565 ซึ่งเราก็จะเร่งให้เสร็จ ขณะนี้อยู่ขั้นตอนการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จากนั้นจะต้องผ่านการพิจารณาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และนำเสนอแผนการลงทุนให้กับคณะรัฐมนตรีอนุมัติซึ่งหวังว่า EIA จะผ่านได้ มิ.ย.และ ก.ค.นี้ หากก่อสร้างภายในปีนี้ก็จะใช้เวลา 2 ปีก็อาจจะเสร็จได้ในปี 2564 ได้” น.ส.สมจิณณ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กนอ.ได้มีการลงนาม (MOU) ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านในนิคมฯสมาร์ทปาร์ค ได้แก่ 1. การลงนามการพัฒนาเทคโนโลยีระบบสารสนเทศและสื่อสารโทรคมนาคมอัจฉริยะระหว่าง กนอ.และ บมจ.ทีโอที 2. ความร่วมมือพัฒนาพลังงานอัจฉริยะระหว่าง กนอ.และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ขณะเดียวกันยังมีการลงนามระหว่างธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กับทีโอที ความร่วมมือกับ กฟน. และบริษัท ทีโอที เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางไฟฟ้าและการสื่อสาร เพื่อนำไปสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City)
“กนอ.ประเมินจะมีเม็ดเงินลงทุนจากเอกชนในพื้นที่ 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve ซึ่งเบื้องต้น บมจ.ปตท.และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือบีไอจี (BIG) ได้แสดงความสนใจลงทุนลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการหน่วยแยกอากาศ โดยใช้พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม หรือ Air Separation Unit (ASU) ในพื้นที่นี้ตามโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ที่จะกันพื้นที่ในนิคมฯ สมาร์ทปาร์กไว้ 20 ไร่ ขณะเดียวกัน ปตท.เองก็ยังสนใจลงทุนปิโตรเคมีขั้นสูงในสมาร์ทปาร์กเช่นกัน” ผู้ว่าฯ กนอ.กล่าว
นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่ากฟน.กล่าวว่า กนอ.จะเน้นศึกษาการพัฒนาระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Energy) โดยจะมองในเรื่องของการพัฒนาพลังงานทดแทนซึ่งคงจะต้องมาพิจารณาว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย หรือเชื้อเพลิงประเภทใดอีกครั้งที่เหมาะสม และบางส่วนจะต้องเชื่อมโยงกับระบบผลิตของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยระบบสายส่งจะเน้นการวางระบบใต้ดินเป็นสำคัญ
นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารคมนาคมไปสู่ดิจิทัล 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมที่อยุ่ในนิคมฯ สมาร์ทปาร์ก และนำไปสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยการวางระบบเครือข่ายจะพัฒนาไปพร้อมกับสายส่งไฟฟ้าที่จะลงดินพร้อมกัน