“ซี แวลู” อัด 700 ล้านบาทผุดโรงงานใหม่รับตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงบูมทั่วโลก สู่เป้าหมาย 30,000 ล้านบาทในปี 2020 ล่าสุดต่อสัญญา 'โลหะกิจรุ่งเจริญทรัพย์' อีก 10 ปี สร้างแกร่งแข่งขันต่อได้
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแปรรูป แบรนด์ซูเปอร์ ซีเชฟและอาหารสัตว์ เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามความร่วมมือพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท โลหะกิจรุ่งเจริญทรัพย์ จำกัด ผู้นำในด้านบรรจุภัณฑ์อาหาร และอาหารสำเร็จรูปในประเทศไทยเป็นเวลา 10 ปีเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางด้านซัปพลายเชน
ก่อนหน้านี้ได้จับมือเป็นพันธมิตรกันมาแล้ว 8 ปี และครั้งนี้เป็นการจับมือต่อเนื่องซึ่งคาดว่าจะทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปีนี้ ขณะเดียวกัน ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้มีการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าเครื่องจักรมาช่วยงานเพื่อมุ่งสู่ตลาดโลกมากขึ้น โดยตั้งเป้ารายได้ให้เป็นบริษัทที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทในอนาคต
นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสถานการณ์อัตราการเกิดของประชากรโลกน้อยลง และหันมาให้ความรักและเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น เห็นได้จากยอดการส่งออกกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงโตขึ้น 100% ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทพร้อมลงทุนในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นหลักในช่วงนี้
ล่าสุดในปีนี้บริษัทพร้อมลงทุนกว่า 700 ล้านบาท แบ่งเป็น 100 ล้านบาท สำหรับลงเครื่องจักรเพิ่มในส่วนของโรงงานเดิมที่ผลิตอาหารสัตว์ และอีก 600 ล้านบาทสำหรับโรงงานแห่งใหม่บนพื้นที่เดิมที่ยังมีที่เหลืออีกกว่า 10,000 ตารางเมตร ซึ่งโรงงานแห่งใหม่นี้จะเน้นผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงพรีเมียมที่ทำจากเนื้อวัว หรือแกะ เป็นต้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 และหากสามารถดำเนินการผลิตได้เต็มรูปแบบใน 3-4 ปีนี้โรงงานใหม่นี้จะทำยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท
“แผนจากนี้จะเน้นกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น มุ่งส่งออกยังอเมริกาที่เป็นตลาดใหญ่สุด รวมถึง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ส่วนอาหารแปรรูปสำหรับรับประทาน ปัจจุบันยอดขายทรงตัว โดยเฉพาะในกลุ่มปลา เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น หลังจากนี้จะเน้นนวัตกรรมใหม่เข้ามาเพิ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อไก่ เป็นต้น”
จะเห็นได้ว่าการดำเนินธุรกิจของซี แวลู ส่วนใหญ่จะเป็นการทำโออีเอ็มให้กับแบรนด์ชั้นนำ โดยส่งออกไปทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 100 ประเทศ ทำให้ปัจจุบัน ซี แวลู ถือเป็นท็อป 2 ของตลาดโออีเอ็มโลก อนาคตตั้งเป้าขึ้นเป็นผู้นำให้ได้ แต่หากมีแบรนด์สินค้าที่น่าสนใจก็พร้อมที่จะซื้อ เช่นเดียวกับแบรนด์ แอตแลนติก กูร์เมต์ ของฝรั่งเศส ที่ซื้อไว้เมื่อปีก่อนที่ทำตลาดฝั่งยุโรปเป็นหลัก
ปัจจุบันบริษัทมียอดขายในกลุ่มอาหารแปรรูปที่ทำจากปลาทูนา ปลาแมคเคอเรล ไก่ ภายใต้แบรนด์ ซูเปอร์ ซีเชฟ และโออีเอ็มอยู่ที่ 75% และกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง ภายใต้แบรนด์ Petsimo และโออีเอ็ม 25% หลังจากให้ความสำคัญต่อกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงในครั้งนี้ มองว่าสัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนไปเป็น 70:30% ขณะที่ภาพรวมรายได้หลังปี 2563 น่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท จากปีนี้ที่มองว่าจะปิดรายได้ที่ 27,500 ล้านบาท โตขึ้นอีก 10% จากปีก่อนหน้าทำรายได้ตามเป้าที่ 25,000 ล้านบาท