การบินไทยเร่งปิดดีลสัญญาขายเครื่องบินเก่า 16 ลำ รายได้ 4 พันล้าน คาดรับรู้ตั้งแต่ Q1/62 และเตรียมขายอีก 4 ลำ “สุเมธ” เผยชงแผนซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำ ถึงคมนาคมอาทิตย์หน้า ขณะที่เล็งเช่าเครื่องระยะสั้น 2 ลำ ช่วยแก้ขัดก่อน ปี 62 บุกธุรกิจครัวและ MRO เพิ่มรายได้
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายในเดือนนี้จะได้ข้อสรุปในการขายเครื่องบินจำนวน 16 ลำ ซึ่งกำลังเจรจารายละเอียดเงื่อนไขสัญญาซื้อขายกับผู้ซื้อ 3 ราย โดยคาดว่าจะมีรายได้จากการขายประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มทยอยบันทึกรายได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/2562 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ตามแผนบริษัทฯ จะขายเครื่องบินทั้งหมด 20 ลำ โดยอีก 4 ลำที่เหลือ ได้แก่ แอร์บัส เอ 300-600 จำนวน 1 ลำ เอ 340-500 จำนวน 1 ลำ และโบอิ้ง 737-400 จำนวน 2 ลำจะเตรียมประกาศขายต่อไป
ขณะที่แผนการจัดหาเครื่องบินจำนวน 38 ลำ ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยได้เห็นชอบกรอบการจัดหาเครื่องบิน โดยยึดตามที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2554 ที่เคยอนุมัติแผนการจัดหาเครื่องบินจำนวน 75 ลำ โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องบินไปแล้วจำนวน 37 ลำ และยังคงเหลือจำนวน 38 ลำ เตรียมเสนอแผนไปยังกระทรวงคมนาคมอย่างช้าสัปดาห์หน้า เพื่อเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ครม.อนุมัติต่อไป
โดยเครื่องบิน 38 ลำ จะเป็นก่รจัดหาเพื่อทดแทนเครื่องเก่า 2 ช่วง โดยช่วงแรกจัดหา 25 ลำ ทดแทน 19 ลำ และจัดหาอีก 13 ลำทดแทน 12 ลำ เท่ากับมีการจัดหาเพิ่มเติม 7 ลำ ซึ่งจะทำให้ฝูงบินเพิ่มจาก 101 ลำในปัจจุบันเป็น 110 ลำ ขณะที่คาดว่าเครื่องบินลำแรกจะเข้ามา 2 ปี หรือประมาณ ปี 64-65 หลังจาก ครม.อนุมัติ เนื่องจากปัจจุบันผู้ผลิตทั้งแอร์บัสและโบอิ้ง มีคำสั่งซื้อเต็มมือ
“ต้องขออนุมัติกรอบก่อน ส่วนรูปแบบการเช่า หรือซื้อ หรือเส้นทาง ขนาดเครื่องบินที่ชัดเจน จะพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความต้องการของตลาด โดยเครื่องบินใหม่จะช่วยรองรับปริมาณการผลิตด้าน ผู้โดยสาร (ASK) ที่เพิ่มขึ้น 3% ต่อปี ในระยะอีก 7-8 ปีข้างหน้า”
สำหรับปี 2562 ตั้งเป้ารายได้ไว้ในระดับ 2 แสนล้านบาทเศษ ใกล้เคียงกับปี 2561 ส่วนอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) คาดว่าจะอยู่ที่ 75-78% เนื่องจากจำนวนเครื่องบินเท่าเดิม ค่าโดยสารต้องแข่งขัน มีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทุกสายการบินจ้องเผชิญเหมือนกัน ดังนั้น ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อดูแลต้นทุน ก็จะทำให้มีกำไรได้
อย่างไรก็ตาม ในปี 62 จะรุกธุรกิจอื่นๆ ที่ช่วยสร้างรายได้เพิ่ม เช่น ครัวการบิน ศูนย์ซ่อม MRO ที่อู่ตะเภา และดอนเมือง นอกจากนี้ มีแผนที่จะเช่าเครื่องบินระยะสั้นอย่างน้อย 2 ลำในช่วงนี้ เพื่อนำมาให้บริการเสริมในเส้นทางที่มีความต้องการซึ่งจะนำเสนอบอร์ดพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ การบินไทยมีจุดแข็งที่มีเส้นทางยอดนิยมที่มีผู้โดยสารเลือก และมีตารางบินในเวลาที่ดี ส่วนข้อเสียคือเครื่องบินน้อย อาจจะปรับตัวไม่ทันเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มได้