พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และอดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมใหม่ของโลกในทศวรรษต่อจากนี้ว่า เทคโนโลยี 5G กำลังจะเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ทรงอิทธิพลที่สุดเทคโนโลยีหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งเทคโนโลยี 5G ไม่เพียงแต่ทำให้มนุษย์สามารถดาวน์โหลดข้อมูลขนาดมหาศาลได้ด้วยความเร็วสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดเท่านั้น แต่มันยังทำให้อุปกรณ์และสิ่งของรอบตัวมนุษย์นับหลายพันล้านชิ้น สามารถเชื่อมโยงกันเองและเชื่อมโยงกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง จนทำให้มนุษย์สามารถทำงานแบบออนไลน์ ทุกที่ ทุกเวลา ได้แบบเรียลไทม์และมีความชาญฉลาดในการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นอย่างยิ่ง จนทำให้ในทศวรรษหน้านับจากนี้เราจะได้เห็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองและเมืองที่มีการบริหารจัดการที่ชาญฉลาด
ยุค 4G ที่ผ่านมานั้น อุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงได้ถูกพลิกผันอย่างมาก แต่ในความเป็นจริงมันเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เพราะเนื่องจากเราสามารถดาวน์โหลดข้อมูลขนาดมหาศาลได้ด้วยความเร็วสูงมากในยุค 5G จึงทำให้ Over-the-top TV (OTT TV) จะเกิดขึ้นในรูปแบบที่น่ามหัศจรรย์ยิ่ง ซึ่ง OTT TV เป็นโทรทัศน์แห่งอนาคตด้วยการ Live streaming ซึ่งกำลังมีแนวโน้มแรงที่จะมาแทน TV แบบดั้งเดิม ทั้งนี้ อีกปัจจัยที่สำคัญนอกจาก 5G ก็คือการวิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics) ก้าวเข้ามามีบทบาทบนอินเทอร์เน็ต บน social media และบนมือถือ ทำให้ผู้คนทั่วโลกถูกบริษัทวิดิโอสตรีมมิ่ง อย่างเช่น Netflix สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมผู้รับชม และสามารถพยากรณ์ความต้องการของผู้ชมเป็นรายบุคคลได้
เมื่อการเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ รวมไปถึงเซ็นเซอร์เกิดขึ้นด้วยระบบ 5G ซึ่งจะทำให้หุ่นยนต์สามารถเข้ามาแทนแรงงานในสายการผลิตในโรงงานอุตสากรรม ส่งผลกระทบให้โรงงานทำงานแบบอัตโนมัติ ทั้งนี้ เนื่องจากระบบ 5G สามารถทำให้ข้อมูลในเซ็นเซอร์และแขนกลหุ่นยนต์ทำงานร่วมกันได้ด้วยการส่งข้อมูลและคำนวณวิเคราะห์ได้อย่างเรียลไทม์ ดังนั้น 5G จะเข้ามาเปลี่ยนกระบวนการทำงาน (workflow) ในองค์กรต่างๆ รวมไปถึงระบบซัปพลายเชนต่างๆ จะมีความรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงไปด้วยการทำงานแบบอัตโนมัติ ดังนั้น 5G ถือได้ว่าเป็นตัวเปลี่ยนเกม (game-changer) ในอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคตอันใกล้
หุ่นยนต์จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษยชาติในอีกไม่กี่ปีนับจากนี้ โดยมีรายงานมากมายเกี่ยวกับการที่หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ ซึ่งอาจเป็นผลให้มนุษย์ต้องตกงานในตำแหน่งงานรูปแบบเดิมๆ อย่างเช่น งานวิจัยของ Oxford University ได้คาดการณ์ว่า ในทศวรรษหน้าตำแหน่งงานในสหรัฐอเมริการ้อยละ 47 มีความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์ ประกอบกับรายงานจาก McKinsey Global Institute ในปี 2015 ได้ระบุว่า 45% ของการทำงานสามารถใช้ระบบอัตโนมัติแทนได้ รวมทั้งงานวิเคราะห์ข้อมูลของผู้บริหารระดับสูงก็อาจถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์
PricewaterhouseCoopers คาดว่าเกือบ 40% ของงานในสหรัฐอเมริกาจะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์ และรวมถึง 30% ของงานในสหราชอาณาจักร 35% ของงานในเยอรมนี และ 21% ของงานในญี่ปุ่น ที่จะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์ โดยธุรกิจในอุตสาหกรรมการเงินมีความเสี่ยงมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก
GSMA คาดการณ์ว่าภายในปี 2025 ทั่วโลกจะมีเครือข่าย 5G ครอบคลุม 1 ใน 3 ของประชากรโลก โดยจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้มากถึง 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2025 และสามารถสร้างตำแหน่งงานได้มากกว่า 17.3 ล้านตำแหน่งงาน
ในยุค 5G เทคโนโลยีโดรน (drone) จะเป็นเทคโนโลยีที่จะมีราคาถูกลงอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 ปีนี้ จนทำให้ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของเหมือนกับที่เราเกือบทุกคนมีสมาร์ทโฟน และโดรนจะเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีที่ทรงพลัง ไม่ว่าจะเป็น 5G, เทคโนโลยีหุ่นยนต์, cloud, Internet of Things (IoT), กล้องความละเอียดสูง และเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานขั้นสูง พร้อมโซลาร์เซลล์ที่จะทำให้โดรนลอยอยู่บนฟ้าได้นานมากขึ้น และโดรนจะมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยจะมาเปลี่ยน platform การให้บริการชนิดที่พวกเราคาดไม่ถึง
ในปี 2018 ที่ผ่านมา ประเทศเดนมาร์ก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาขั้นสูงและวิทยาศาสตร์ได้จัดสรรเงินจำนวน 30 ล้านโครนเดนมาร์ก สำหรับการวิจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานของโดรน หรือที่เรียกว่า UAS-ability ซึ่งประกอบด้วยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีโดรน 3 แห่งที่มหาวิทยาลัย Southern Denmark, มหาวิทยาลัย Aalborg และมหาวิทยาลัย Aarhus และได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยและสถาบันการวิจัยอื่นๆ รวมทั้งในภาคธุรกิจต่างๆ ด้วย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเสนอการจัดสรรเงินทุนเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมในด้านเทคโนโลยีโดรนนี้มากขึ้น
รายงานจาก Boston University และ Columbia University รายงานว่า งานในอนาคตหุ่นยนต์จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษยชาติในอีกไม่กี่ปีนับจากนี้ อาชีพบางอาชีพ ตำแหน่งงานบางตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการเงินและธนาคาร งานด้านการจัดการ หรืองานด้านการผลิตที่จะถูกคุกคามโดยหุ่นยนต์ โดยการล่มสลายของอุตสาหกรรมและตำแหน่งงานต่างๆ เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว อย่างเช่น อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์, โทรทัศน์ และฟิล์มในสหรัฐอเมริกา
ในยุค 5G การทำธุรกรรมทางการเงินกำลังวิ่งเข้าสู่การให้บริการแบบดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบและ realtime เนื่องจากสามารถลดต้นทุนทางกายภาพและยังทำให้กระบวนการทำธุรกรรมสั้นลง แต่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และสอดคล้องกับประสบการณ์ของผู้บริโภคที่ใช้สมาร์ทโฟนที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยี Blockchain และ AI แบบออนไลน์ตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีบอกตำแหน่งบนสมาร์ทโฟน, IoT และ app บนสมาร์ทโฟน กำลังท้าทายเขย่าขวัญกวาดสาขาธนาคาร, ตู้ ATM, บัตรเครดิต และสมาร์ทการ์ด ให้หายไปในทศวรรษหน้า โดย Citigroup คาดว่า 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานในธนาคารจะหายไปภายในปี 2025 ในขณะที่ John Cryan ซีอีโอแห่ง Deutsche Bank คาดว่าครึ่งหนึ่งของตำแหน่งงานในธนาคารจะหายไปในทศวรรษหน้า
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ได้สรุปว่า ปรากฏการณ์ที่เราจะได้เห็นในปี 2019 ก็คือ การเริ่มวางโครงข่าย 5G ในหลายประเทศทั่วโลกจะทำให้การทำงานมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการทำงานผ่านระบบคลาวด์ (cloud) และบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต 5G ซึ่งจะทำให้ทีมในบริษัทสามารถทำงานร่วมกันได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานที่และเวลาอีกต่อไป โดยบริษัทที่มีวัฒนธรรมรูปแบบเดิมๆ ที่ไม่สามารถยอมรับการทำงานรูปแบบใหม่ได้ ก็จะมีความเสื่อมสภาพลงและจะไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนรุ่นใหม่ จนจะทำให้องค์กรรูปแบบดั้งเดิมหลายองค์กรไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านทักษะในงานใหม่ๆ ได้ รวมไปถึงการที่องค์กรไม่สามารถปรับไปสู่ความยืดหยุ่นและไม่สามารถลดต้นทุน เพื่อที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อีกต่อไป