xs
xsm
sm
md
lg

PTTGC ลุ้นสรุปผลวิจัย PLA สิ้นปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


PTTGC คาดสิ้นปีนี้ผลวิจัยพลาสติกย่อยสลายชนิด PLA ปลายปีนี้ก่อนเดินหน้าตัดสินใจตั้งโรงงานผลิต PLA เชิงพาณิชย์ในไทย เบื้องต้นเล็งตั้งโรงงานผลิต PLA ในโครงการไบโอคอมเพล็กซ์เฟส 2 ที่นครสวรรค์ แย้มเล็งเจาะตลาด PBS ร้านกาแฟสตาร์บัคส์เพิ่มเติม

นายปฏิภาณ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการวิจัยทดลองในห้องแล็บเพื่อเพาะเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียด้วยน้ำตาลจากน้ำอ้อยเพื่อผลิตเป็น Lactic Acid ซึ่งเป็นวัตถุดิบขั้นต้นในการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid (PLA) จากเดิมที่บริษัท NatureWorks สหรัฐฯ มีเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA ด้วยวิธีเลี้ยงแบคทีเรียด้วยน้ำตาลจากข้าวโพด คาดว่าผลการวิจัยจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานผลิต PLA เชิงพาณิชย์ในไทยต่อไป

ทั้งนี้ หากตั้งโรงงานผลิต PLA ในไทยจะตั้งโรงงานอยู่ที่โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 2 จังหวัดนครสวรรค์เพื่อให้ใกล้แหล่งวัตถุดิบ คือ อ้อย โดยปัจจุบันงานวิจัยดังกล่าวดำเนินการใน 3 ส่วน ได้แก่ การทำวิจัย โดย บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม, บริษัท Myriant Corporation ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในสหรัฐอเมริกา และล่าสุดวันนี้ที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสนับสนุนการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBS ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรก็มีการศึกษางานวิจัยดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันบริษัทมีการผลิตเม็ดพลาสติกย่อยสลายชนิด PBS ในระดับเชิงพาณิชย์ที่ จ.ระยอง กำลังการผลิต 2 หมื่นตัน/ปี แต่มีการผลิตจริงในระดับ 4 พันตัน/ปีเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออก ขณะเดียวกันก็ทำตลาดในประเทศ โดยป้อนให้กับร้านคาเฟ่ อเมซอน ในเครือ PTTOR และร้านกาแฟอินทนิล ในเครือบางจาก รวมทั้งกำลังเจรจากับร้านกาแฟสตาร์บัคส์ เป็นต้น

ขณะนี้การใช้ไบโอพลาสติกยังมีไม่มากนัก เนื่องจากยังมีราคาแพง แต่ก็เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังจากที่หลายประเทศในแถบยุโรปเริ่มรณรงค์การไม่ใช้พลาสติกอย่างจริงจัง ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งในส่วนนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อบริษัทบ้าง แต่บริษัทก็เตรียมพร้อมและวางเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้าการผลิตเม็ดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use) หมดไป ซึ่งปัจจุบันที่บริษัทมีการผลิตราว 1.5 แสนตัน/ปี จากกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรวมที่ 2 ล้านตัน/ปี ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างทำการตลาดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยเช่นกัน เช่น การเปลี่ยนการผลิต Single use เป็น Multi use เช่น ท่อ, สายไฟ, เส้นใย เป็นต้น หรือหากจำเป็นต้องมีการใช้ในรูปแบบของ Single use ก็จะแนะนำให้ใช้ไบโอพลาสติกทดแทน

โครงการไบโอคอมเพล็กซ์เป็นความร่วมมือระหว่าง GGC กับ บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์คอร์ปอเรชั่น (KTIS) อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการเฟสที่ 1 ที่จะนำอ้อยมาหีบเป็นน้ำอ้อยเพื่อผลิตไบโอเอทานอล และในอนาคตจะต่อยอดเฟส 2 ซึ่งเป็นการผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้มีความเหมาะสมและมีต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อให้สามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้

วันนี้ (11 ม.ค.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสนับสนุนการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBSTM ผลิตเป็นแก้วกระดาษเคลือบ BioPBS และหลอดไบโอพลาสติกตามนโยบาย Be Smart Be Green สอดคล้องแนวทาง Circular Economy เพื่องโลกยั่งยืน

อาจารย์ปัญจพล เหล่าพูนพัฒน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยศิลปากรมีความยินดีที่ได้จับมือกับ PTTGC ในการสนับสนุนการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBSTM ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ โดยพัฒนาเป็นแก้วกระดาษเคลือบ BioPBS และหลอดไบโอพลาสติก การดำเนินโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันของประชาคมทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัย ดังม็อตโต All We Can Do โดยหลอดไบโอพลาสติกเป็นผลงานการวิจัยของคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

ที่ผ่านมา PTTGC ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม Zero-Waste Cup ซึ่งผลิตจากกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ BioPBSTM ที่สามารถย่อยสลายในสภาวะปุ๋ยหมักภายใน 180 วัน และร่วมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชาวจุฬาฯ และชุมชนรอบข้างเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะพลาสติก โดยเริ่มจากการคัดแยก การจัดเก็บ การรีไซเคิล และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะร่วมมือและสนับสนุนมหาวิทยาลัยและองค์กรการศึกษาต่างๆ ในการใช้พลาสติกให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ เพื่อนิสิตนักศึกษาได้เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ในการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันอย่างถูกต้องและรักษ์โลก เพื่อคงไว้ซึ่งการรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น