บอร์ด สศช.เห็นชอบรถไฟทางคู่สายใหม่ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 6.7 หมื่นล้าน และไฟเขียว ทล.เพิ่มงบเวนคืนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรีอีก 8 พันล้าน ด้านคมนาคมเร่งชง ครม.ขออนุมัติโครงการ
นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2562 ได้เห็นชอบโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม (ทางคู่สายใหม่) ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 67,965.33 ล้านบาท
และเห็นชอบกรมทางหลวง (ทล.) เสนอการขยายกรอบวงเงินค่าเวนคืนโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี ซึ่งหลังจากนี้จะนำเสนอทั้ง 2 โครงการเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้ได้เสนอโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟส 2 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ต่อบอร์ด สศช. จำนวน 3 โครงการ คือ 1. สายขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 26,663.36 ล้านบาท 2. ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. วงเงิน 37,527.10 ล้านบาท 3. บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม (ทางคู่สายใหม่) ซึ่งได้รับการพิจารณาแล้ว 1 โครงการ
ทั้งนี้ แนวเส้นทางก่อสร้างส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่บนพื้นที่เขตทางรถไฟส่วนใหญ่ จึงต้องทำการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตลอดเส้นทาง (ประมาณ 17,449 ไร่)
มีแนวเส้นทางผ่าน 6 จังหวัด 19 อำเภอ ได้แก่ จ.ขอนแก่น (อ.บ้านไผ่) จ.มหาสารคาม (อ.กุดรัง อ.บรบือ และ อ.เมืองมหาสารคาม) จ.ร้อยเอ็ด (อ.ศรีสมเด็จ อ.เมืองร้อยเอ็ด อ.จังหาร อ.เชียงขวัญ อ.โพธิ์ชัย อ.โพนทอง อ.เมยวดี และ อ.หนองพอก) จ.ยโสธร (อ.เลิงนกทา) จ.มุกดาหาร (อ.นิคมคำสร้อย อ.เมืองมุกดาหาร และ อ.หว้านใหญ่) จ.นครพนม (อ.ธาตุพนม อ.เรณูนคร และอ.เมืองนครพนม)
มีการก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่ จำนวน 30 แห่ง (สถานีขนาดใหญ่ 4 แห่ง สถานีขนาดกลาง 5 แห่ง สถานีขนาดเล็ก 9 แห่ง และป้ายหยุดรถ 12 แห่ง) และ 1 ชุมทาง (ชุมทางบ้านหนองแวงไร่)
มีลานบรรทุกตู้สินค้า (Loading Yard) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ลานบรรทุกตู้สินค้าสถานีภูเหล็ก ลานบรรทุกตู้สินค้าสถานีมหาสารคาม และลานบรรทุกตู้สินค้าอำเภอโพนทอง มีย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard : CY) 3 แห่ง ได้แก่ ย่านกองเก็บตู้สินค้าสถานีร้อยเอ็ด ย่านกองเก็บตู้สินค้าสถานีสะพานมิตรภาพ 2 และย่านกองเก็บตู้สินค้าสถานีสะพานมิตรภาพ 3
ขณะที่โครงการมอเตอร์เวย์ เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตรก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติโครงการ มีวงเงินรวม 55,620 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 43,700 ล้านบาท และค่าเวนคืนอีก 5,420 ล้านบาท ต่อมากรมทางหลวงได้เสนอขอเพิ่มค่าเวนคืนเพิ่มอีก 14,217 ล้านบาท ทำให้ค่าเวนคืนโครงการอยู่ที่ 19,637 ล้านบาท ซึ่ง ครม.ไม่พิจารณา และให้กลับมาทบทวน ล่าสุดบอร์ด สศช.ได้เห็นชอบ หลังจากกรมทางหลวงได้ปรับลดกรอบค่าเวนคืนลงจาก 19,637 ล้านบาท เหลือ 13,000 ล้านบาท โดยเสนอขอจัดสรรค่าเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมอีก 8,000 ล้านบาท