กทท.กดปุ่มโครงการ Smart Community ทุ่ม 7.5 พันล้านผุดอาคารสูง ย้ายชุมชนคลองเตย เคลียร์พื้นที่เข้าสู่แผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ แก้ปัญหาชุมชนแออัด สิ่งแวดล้อม ยาเสพติด ครบวงจร เปิด 3 เงื่อนไข ให้ 1.3 หมื่นครัวเรือนเลือก ย้ายขึ้นตึกสูง, ย้ายไปหนองจอก, รับเป็นเงินทุน
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย หรือ Smart Community บริเวณองค์การฟอกหนัง (เดิม) ถนนริมทางรถไฟสายเก่า ว่า ตามแผนพัฒนาและบริหารพื้นที่ตามผังแม่บทท่าเรือกรุงเทพ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบเขตท่าเรือ ซึ่งการพัฒนาที่อยู่อาศัยดังกล่าวจะดำเนินการในพื้นที่โรงฟอกหนังเดิม จำนวน 58 ไร่ เป็นอาคารทรงสูง จำนวน 4 อาคาร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก หน่วยงานราชการ
ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาพื้นที่คลองเตย ซึ่งมีชุมชน 3 กลุ่ม คือ ในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ 26 ชุมชน และใต้ทางด่วนอีก 5 ชุมชน และหน่วยงานราชการ สถานบันการศึกษาในพื้นที่ โดยในส่วนของชุมชนมีประมาณ 13,000 ครัวเรือนนั้น กทท.กำหนดสิทธิประโยชน์ใน 3 ทางเลือก คือ 1. รับเป็นการพักที่พักอาศัยที่อาคารสูง Smart Community 2. รับเป็นที่ดินเปล่าขนาด 19.5 ตร.ว.ต่อครัวเรือน ย่านหนองจอก มีนบุรี จำกัดจำนวน 2,140 แปลง ซึ่งสามารถปลูกบ้านเป็นของตัวเองได้ หรือ 3. กลับภูมิลำเนาโดยรับเป็นเงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต
หลังจากนี้ กทท.จะต้องเร่งสำรวจรายละเอียดเพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินการโครงการ Smart Community ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยตั้งเป้าให้เริ่มประมูลก่อสร้างในปี 2562 นี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 2.5-3 ปี นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เชื่อมการเดินทางจาก Smart Community เข้าไปเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้า MRT คลองเตย โดยจะให้เริ่มต้นจากการนำรถไฟชุมชน หรือแทรมป์ มาวิ่งบนเส้นทางรถไฟสายเก่าที่จะมีการปรับปรุงไปก่อน เพราะใช้เวลาไม่มาก ในระยะต่อไปจะพัฒนาเป็นรถโมโนเรล
“คาดว่าจะใช้เงินลงทุนสำหรับที่พักอาศัย Smart Community ประมาณ 7,500 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนของตัวเองทั้งหมด ขณะที่จะกำหนดเงื่อนไขในการเช่าหรือค่าบริการที่เหมาะสม นโยบายรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม และยาเสพติดในพื้นที่คลองเตย ลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นการเปิดพื้นที่ สามารถนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ สามารถหารายได้เพิ่มได้”
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการ สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ กทท.กล่าวว่า โครงการ Smart Community มีพื้นที่ 58 ไร่ เป็นอาคารสูง 25 ชั้น 4 อาคาร อาคารละ 1,536 ยูนิต รวม 6,144 ยูนิต ขนาด 33 ตร.ม./ห้อง มีอาคารจอดรถส่วนกลาง และพื้นที่สีเขียว 40% ซึ่งเงื่อนไขเบื้องต้น ผู้ที่มีสิทธิ์ใน 3 ทางเลือกต้องอยู่ใน26 ชุมชนของท่าเรือราว 12,000 ครัวเรือน และใต้ทางด่วน 5 ชุมชน ประมาณ 500 ครัวเรือน จะเร่งสำรวจสำมะโนประชากร ข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามี 50% ต้องการอาศัยในอาคารสูง อีก3 0% ต้องการรับเป็นที่ดินย่านหนองจอก และ 20% รับเป็นทุนเพื่อกลับภูมิลำเนา จากนี้จะเร่งสำรวจ ออกแบบรายละเอียดและจัดทำ EIA เพื่อเร่งก่อสร้างให้ได้ในปี 2563 หรือเร็วที่สุด
“ทั้งห้องชุดและที่ดินจะให้เป็นกรรมสิทธิ์ และโอนให้ทายาทได้แต่ขายต่อไม่ได้ ตรงนี้จะกำหนดเงื่อนไขกันอีกที ซึ่งอาจจะใช้โมเดลของกรมธนารักษ์คือให้สิทธิ์ 30 ปี และต่ออีก 30 ปี เป็นต้น หลักๆ อาคารชุดอาจจะไม่มีค่าเช่าหรือมีจะต่ำมาก ส่วนค่าส่วนกลาง ค่าลิฟต์ ค่าขยะ ต้องมีจัดเก็บจากผู้อาศัยแน่นอน”
*** จ้างที่ปรึกษาทบทวนผังแม่บทท่าเรือกรุงเทพและตั้งบริษัทลูก
สำหรับแผนพัฒนาผังแม่บทท่าเรือกรุงเทพ มีพื้นที่ทั้งหมด 2,353 ไร่ คณะกรรมการ PPP ให้ กทท.ศึกษาทบทวนเพิ่มเติมรวมถึงหารือกับกฤษฎีกาเพื่อความชัดเจนในการนำมาพัฒนา ซึ่งที่ได้ก่อนปี 2521 สามารถพัฒนาในกิจกรรมอื่นๆ ได้ ส่วนที่ได้หลังปี 2521 จะพัฒนาได้เฉพาะท่าเรือหรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งท่าเรือคลองเตยสามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ โดย กทท.อยู่ในขั้นตอนการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาเพิ่มเติมและการจัดตั้งบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์
พื้นที่ท่าเรือในเขตรั้วศุลกากร 900 ไร่ จะปรับปรุงโดยลดขนาดเหลือ 500 ไร่ แต่ศักยภาพไม่ลด ส่วนอีก 400 ไร่จะพัฒนาเป็นท่าเรือท่องเที่ยว ศูนย์การค้า เป็นต้น ขณะที่จุดที่ชุมชนอาศัยอยู่ คิดเป็นมูลค่าที่ดิน 32,000 ล้านบาท หรือประมาณ 3-4 แสนบาทต่อ ตร.ว. เมื่อโยกย้ายได้จะสามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้ ตามแผนจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี