xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ยันโมเดล PPP สายสีส้มตะวันตก เอกชนลงทุนทั้งโยธา-ระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รฟม.เดินหน้ารถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ยึดโมเดลเดิมเอกชนลงทุน 100% โยธาและระบบเดินรถ ชี้แจง สศช.และคลัง เตรียมชง “สมคิด” อนุมัติ ระบุแม้มูลค่าสูงแต่เป็นการคัดกรอง ได้เอกชนที่ศักยภาพเข้าประมูล

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ได้มอบหมายให้ รฟม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปหารือเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนและแหล่งเงินที่เหมาะสมอีกครั้ง ซึ่ง รฟม.ได้ทำการศึกษาเดียวกับรูปแบบ PPP net cost โดยใช้โมเดลการลงทุนเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ที่เอกชนลงทุนทั้งการก่อสร้างและระบบเดินรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ มีความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า การนำงานโยธารวมกับงานระบบเดินรถทำให้มูลค่าการลงทุนสูง และอาจทำให้มีเอกชนเข้าร่วมประมูลได้น้อยราย ซึ่งเห็นจากโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินที่มีเอกชนเข้าร่วมประมูลเพียง 2 รายเนื่องจากมูลค่าการลงทุนสูง

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะทำงานที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีผู้แทนระดับหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ตามที่คณะกรรมการ PPP มอบหมาย เบื้องต้นได้ทำความเข้าใจ และเห็นตรงกันแล้ว โดยให้ รฟม.เดินหน้าโครงการในรูปแบบเดิมและเตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการ PPP ในการประชุมครั้งต่อไป

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่าเงินลงทุนรวม 235,320 ล้านบาท ภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ซึ่งรูปแบบการลงทุนโดยเอกชน 100% นั้นจะลดภาระการลงทุนภาครัฐ อีกทั้งจะสามารถคัดกรองศักยภาพของเอกชนที่เข้ามาลงทุนได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในรายงานการศึกษาการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ รฟม.นำเสนอนั้น ในรายละเอียดได้มีการศึกษาไว้ทั้งกรณีที่รัฐจะลงทุนงานโยธาและเอกชนลงทุนระบบการเดินรถ และกรณีที่ให้เอกชนลงทุนทั้งหมด 100%และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.และกระทรวงคมนาคมแล้ว ดังนั้น หากนโยบายรัฐเห็นว่าโมเดลใดเหมาะสมสามารถใช้ได้ทั้ง 2 รูปแบบไม่ต้องกลับมาเริ่มศึกษาใหม่

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 16.4 กม. วงเงินลงทุน 109,342 ล้านบาท โดยมีค่างานโยธา 85,288.54 ล้านบาท ขณะที่รวมการเดินรถจากมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ รวม 34.6 กม. โครงการจะมีมูลค่าลงทุนรวม 235,320 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในส่วนตะวันออกได้ในปี 2566 และทั้งเส้นภายในปี 2568


กำลังโหลดความคิดเห็น