xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่ปิดดีล! รถไฟ 3 สนามบินต่อรองซีพี ยันรัฐต้องไม่จ่ายเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย  (รฟท.)
กก.คัดเลือกฯ รถไฟความเร็วสูงรอ “ซีพี” ส่งข้อเสนอเพิ่มเติม 9 ม.ค.นี้ ก่อนเปิดโต๊ะเจรจารอบสุดท้าย “วรวุฒิ” เผยซอง 4 มีทั้งเสนอให้รัฐเพิ่มและขอจากรัฐ เน้นเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นไปตามหลักสากลของการร่วมลงทุน พร้อมเร่งสำรวจพื้นที่เวนคืน

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท ว่า ได้ประชุมเพื่อพิจารณาซอง 4 (ข้อเสนอเพิ่มเติม) ของกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซี.พี.) และพันธมิตร หลังจากที่ได้มีการเปิดซองข้อเสนอเพิ่มเติมไปเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2561 และได้แจ้งกับ ซี.พี.กรณีที่มีข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาต่อรองให้เสนอภายในวันที่ 27 ธ.ค. 2561 แต่เนื่องจากมีเวลาน้อย ซี.พี.ขอขยายเวลาส่งข้อเสนอเพิ่มเติมวันที่ 9 ม.ค. 2562 ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 15 ม.ค. 2562

ทั้งนี้ คณะ กก.คัดเลือกฯ จะประชุมเพื่อประเมินข้อเสนอก่อน หลังจากนั้นจึงจะเรียก ซี.พี.มาเจรจาต่อรอง ซึ่งตามแผนกำหนดลงนามสัญญาภายในวันที่ 31 ม.ค. 2562 แต่หากการเจรจาต่อรองยังไม่สิ้นสุดอาจจะขยับกำหนดออกไปได้ ซึ่งจะรายงานสถานการณ์จริงต่อรัฐบาลเพราะโครงการนี้มีมูลค่าสูง ประโยชน์ของรัฐจะเสียหายไม่ได้ ขณะที่เป็นโครงการร่วมทุนเอกชน ตามหลักสากลจะต้องเจรจาเพื่อตกลงร่วมกัน

“ข้อเสนอเพิ่มเติมซองที่ 4 ของ ซี.พี.มีทั้งที่ให้เพิ่มและขอจากรัฐ ตอนนี้มีการจัดหมวดหมู่ไว้แล้ว รอข้อมูลที่เอกชนจะเสนอมาเพิ่มเติมหรือไม่ และข้อมูลมีการเชื่อมโยง เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร มีเหตุผลหรือไม่ ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ กรณีที่รัฐต้องให้ก็จะไม่ใช่จ่ายเป็นตัวเงิน และหลักการรัฐจะไม่จ่ายอะไรเพิ่มนอกเหนือจากเงื่อนไขทีโออาร์”

ส่วนการเวนคืนที่ดินซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนแล้วนั้น นายวรวุฒิกล่าวว่า กรณีที่เอกชนมีข้อเสนอที่จะต้องขยับจุดตั้งสถานีอยู่ที่ข้อเสนอ แต่ทั้งนี้จะต้องยึดตามกรอบ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตพื้นที่ที่ ครม.อนุมัติไว้

ขณะนี้ ร.ฟ.ท.เตรียมลงพื้นที่เพื่อดำเนินการสำรวจตามมติ ครม.แล้ว ซึ่งหลังลงนามสัญญาจะสามารถส่งมอบพื้นที่มักกะสัน ซึ่งมีทั้งหมด 150 ไร่ โดยจะส่งมอบส่วนแรก 100 ไร่ก่อน และที่บริเวณศรีราชาจำนวน 25 ไร่ ส่วนที่ดินมักกะสันอีก 50 ไร่ที่เหลือทยอยมอบภายใน 5 ปี เนื่องจากจะต้องย้ายพวงรางออกจากพื้นที่ก่อน

“ขณะที่ที่ดินมักกะสันอยู่ระหว่างทำการังวัด ตรวจสอบขอบเขตพื้นที่ คาดว่าจะเสร็จกลางเดือน ม.ค. 2562 อย่างไรก็ตาม การเวนคืนจะดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งไม่กระทบต่อการก่อสร้างเพราะมีพื้นที่เขตทางรถไฟที่สามารถส่งมอบเพื่อให้เข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ก่อน” นายวรวุฒิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น