xs
xsm
sm
md
lg

เกาะติดข่าวเด่นปี’62 อุตสาหกรรม-พลังงานในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โลกยุคดิจิทัลนั้นความยุ่งยากและซับซ้อนของภาคอุตสาหกรรมและพลังงานในปี 2562 ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว หรือ Disruptive Technology ที่มีแนวโน้มจะทำให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเอกชนและนโยบายรัฐจำเป็นต้องติดตามใกล้ชิดและปรับตัวรองรับกับสิ่งดังกล่าว “ ผู้จัดการรายวัน”จึงขอคัดประเด็นเด่นและประเด็นร้อนต่อเนื่องจากปี 2561 ที่ควรต้องติดตามในปี 2562 ดังนี้



“อีอีซี” กับอุตฯ4.0ความหวังปรับโครงสร้างศก.ไทย

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ในพื้นที่นำร่องจ.ระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา เป็นแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มุ่งหวังจะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยก้าวสู่นวัตกรรมขั้นสูงโดยเฉพาะอุตสาหกรรม 4.0 ที่กำหนดไว้นำร่อง 11 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่”อีอีซี” เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและเพิ่มเติมอุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรมที่สอดรับกับกระแสโลก ซึ่งตลอดเวลาของแผนงานรัฐบาลได้อัดฉีดสิทธิประโยชน์มากมาย รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนำร่อง 5 บิ๊กโปรเจกต์ในอีอีซีได้แก่ 1.โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และ สนามบินอู่ตะเภา ) 2. โครงการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา 3.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน 4.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และ5.ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3

โครงการต่างๆ เริ่มทยอยดำเนินการภายใต้รัฐร่วมเอกชนลงทุน(PPP) ที่คาดว่าจะได้รายชื่อผู้ชนะเพื่อการพัฒนาทั้งหมดได้ครบในเดือนก.พ. 62 รัฐบาลคาดหวังว่า EEC Project List นี้จะมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นการลงทุนระลอกใหม่ที่ตามมาจากเอกชนทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นคงต้องติดตามกันใกล้ชิดถึงผลสัมฤทธิ์ของ”อีอีซี”ว่าจะเดินไปได้สวยงามตามที่รัฐบาลนี้คาดหวังไว้หรือไม่ ท่ามกลางการเลือกตั้งที่ภาคเอกชนต่างก็เฝ้ารอคอยพราะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธว่ามีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่



2.ยานยนต์ไฟฟ้าเทคโนโลยีที่ยังต้องติดตามต่อ

ช่วง2-3ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)เป็นที่ถูกจับตามากขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ทั่วโลกต่างมุ่งวิจัยและพัฒนา ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็ได้ส่งเสริมการลงทุนโดยจัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี ทำให้มีการส่งเสริมการเกิดขึ้นของสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับรถดังกล่าวอย่างคึกคัก แต่ก็ดูเหมือนว่าวันนี้จำนวนรถยนต์อีวีที่วิ่งบนท้องถนนของไทยรวมๆกันยังคงมีปริมาณเพียงหลักหมื่นคันเท่านั้นและยังถูกมองว่าเป็นของเล่นของคนรวยด้วยสนนราคาที่เกินหลักล้าน อย่างไรก็ตามกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมแผนที่จะส่งเสริมให้รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล(อีโคคาร์)สามารถผลิตอีวีได้ภายใต้ชื่อ อีโคอีวี เพื่อให้รถอีวีนั้นเกิดขึ้นได้จริงโดยคาดหวังว่าจะเห็นการลงทุนได้ในปี 2562 ดังนั้นคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด

3.อ้อยและน้ำตาลกับความหวัง”Bio Economy”

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในช่วงเปลี่ยนผ่านการปรับโครงสร้างสู่ระบบเสรีด้วยการนำร่องการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจากคำสั่งม.44 มีผลตั้งแต่ 15 ม.ค.2561 นั้นดูจะเป็นช่วงจังหวะที่ราคาน้ำตาลโลกลดต่ำลงต่อเนื่องและทำให้เป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภคที่ราคาขายปลีกลดลงเฉลี่ย 2 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) แต่สำหรับชาวไร่อ้อยแล้วถือเป็นปีที่ยากลำบากพอควรเมื่อราคาอ้อยตกต่ำต่อเนื่องและฤดูผลิตปี 2561/62 นั้นราคาอยู่ที่ 700บาทต่อตัน(10ซีซีเอส)จนทำให้ครม.ต้องอนุมัติงบกลาง 6,500 ล้านบาทช่วยเป็นปัจจัยการผลิตเพิ่มอีก 50 บาทต่อตัน….

อย่างไรก็ตามรัฐบาลเร่งแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยฯเพื่อหวังจะปลดล็อคไปสู่การลงทุนเศรษฐกิจฐานชีวภาพ(Bio Economy) ที่เป็นเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทยโดยเฉพาะอ้อย ดังนั้นปี 2562 จึงต้องติดตามภาวะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลใกล้ชิดว่าจะก้าวพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้หรือไม่อย่างไร และ Bio Economy จะเห็นเป็นรูปธรรมได้แค่ไหน

4.แรงงานกับผลกระทบในโลกยุคดิจิทัล

ปี 2561 Disruptive Technology ได้กระทบต่อแรงงานในหลายอุตสาหกรรมแต่ที่เด่นชัดคงหนีไม่พ้นสื่อสิ่งพิพม์ ธนาคารพาณิชย์ และการค้าปลีกที่มุ่งไปสู่ระบบออนไลน์ มากขึ้นขณะที่ภาคการผลิตในอนาคตมีแนวโน้มจะหันมาพึ่งพิงระบบอัตโนมัติประเภทแขนกลต่างๆ และไฮเทคหน่อยก็ก้าวสู่หุ่นยนต์ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมจะกระทบต่อการจ้างงานในอนาคตและการเข้าสู่แรงงานในยุคดิจิทัลเองก็น่าจะเป็นโอกาสให้กับคนหนุ่มสาวมากกว่า ขณะที่แรงงานภาพรวมต้องฝึกฝนและเพิ่มทักษะให้มากขึ้น ดังนั้นในปี 2562 ภาคแรงงานไทยจำเป็นต้องปรับตัวในทุกๆ ด้านเช่นเดียวกับนโยบายของภาครัฐหากไม่เช่นนั้นแรงงานจะได้รับผลกระทบที่สูงขึ้น ประกอบกับไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลไปยังการลงทุนในอนาคตได้

5.ส.อ.ท.ปรับปรุงกม.ใหม่รับโลกยุคดิจิทัล

พ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยใช้มาตั้งแต่ปี 2530 ได้ฤกษ์ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงให้สอดรับกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลซึ่งขณะนี้นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท. ที่เป็นกำลังหลักในการเร่งจัดทำร่างแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.ฯ พ.ศ. ... แล้วเสร็จ เตรียมพร้อมที่จะนำเสนออุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมในการเข้าสู่ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งทางส.อ.ท.หมายมั่นว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในปี 2562 นี้ โดยหลักๆที่แก้ไขใหม่คือกระบวนการเลือกตั้ง สมาชิกจะมีมาจากธุรกิจที่สอดรับกับโลกที่เปลี่ยนไปไม่ได้เน้นโรงงานเช่นอดีต เป็นต้น งานนี้ก็หวังว่าจะไม่มีประเด็นใหญ่ขัดแย้งกันเช่นอดีตที่ผ่านมาอีก

6. พีดีพีใหม่กับความท้าทายการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

ร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(พีดีพี)ฉบับใหม่ที่กระทรวงพลังงานเตรียมนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)วันที่ 7 ม.ค. 62 นั้นตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 3 ด้านคือ 1. ด้านความมั่นคง สร้างสมดุลระบบไฟฟ้าตามรายภูมิภาค 2. ด้านราคาที่จะมีค่าไฟเฉลี่ย 3.576 บาทต่อหน่วยตลอดแผน(ปี 61-80) 3. ด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน การพัฒนาสู่ระบบ Smart Grid เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตลาดสู่การที่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลายเป็นผู้ผลิตเอง (Prosumer) ในอนาคต อย่างไรก็ตามร่างดังกล่าวยังคงมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยหลายส่วนและเห็นว่าควรจะศึกษาให้ละเอียดก่อนประกาศใช้เพราะยังมีหลายประเด็นที่ไม่ชัดเจน ซึ่งคงจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าที่สุดร่างแผนดีพีพีฉบับนี้จะเดินไปตามที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร

7. แผนกองทุนอนุรักษ์ฯเพื่อประโยชน์ของประชาชน

ปี 2561 กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกลายเป็นข่าวฉาวเมื่อมีการปล่อยข่าวถึงความไม่ชอบมาพากลของการใช้เงินที่มีนับหมื่นล้านบาทอย่างไร้ประสิทธิภาพ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงาน โดยโครงการใดที่เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยชาวบ้านได้แท้จริงก็ยังคงสานต่อ เช่น โซลาร์สูบน้ำ แต่โครงการใดที่เห็นว่าซ้ำซ้อนและส่งเสริมเสร็จแล้วไม่มีงบดูแลต่อก็ต้องตีตกไป ดังนั้นปี 2562 กระทรวงพลังงานได้มีการพิจารณาจัดทำแผนย่อยใหม่ให้สอดรับกับพีดีพี 2018 ที่ประกอบด้วย 5 แผนได้แก่ แผนก๊าซ แผนน้ำมัน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน(EEP) และแผนใหม่ที่เพิ่มเข้ามาจัดทำครั้งแรกจากเดิมที่ไม่เคยจัดทำคือ แผนกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานได้ชี้ให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนของแผนกองทุนอนุรักษ์ฯที่จะจัดทำนั้นก็เพื่อให้การใช้เงินมีความชัดเจนขึ้น โครงการและเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

8. โซลาร์รูฟท็อปมาแรงแซงโค้ง

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ดูจะร้อนแรงต่อเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ต้นทุนต่ำลงคงหนีไม่พ้นพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย(โซลาร์รูฟท็อป) ที่ปี 2561 ภาคธุรกิจเอกชนต่างหันมาติดตั้งผลิตไฟใช้เองกันอย่างต่อเนื่องเพราะค่าไฟต่ำลงและทำให้การติดตั้งมีระยะเวลาการคืนทุนเร็วขึ้นเฉลี่ย 7-10 ปีขึ้นอยู่กับขนาดการติดตั้ง และร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี)ฉบับใหม่ที่เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) 7 ม.ค. 62 ได้กำหนดแผนรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ภาคประชาชนจำนวน 10,000 เมกะวัตต์ตลอดแผนปี61-80 ดังนั้นคงต้องมาลุ้นว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)จะร่างเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวนี้ด้วยอัตราเท่าใด และรับซื้อในปีแรกเท่าใดแน่ ซึ่งเชื่อว่าโซลาร์รูฟท็อปเทคโนโลยีนี้จะยังฮิตติดลมบนต่อเนื่อง

9. เมื่อขยะพลาสติกกลายเป็นสินค้าแฟชั่น

ปี 2561 นับเป็นเทรนด์ของการดูแลสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง จะเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างส่งเสริมการนำขยะโดยเฉพาะขยะจากพลาสติกในท้องทะเลมาผ่านกระบวนการ Upcycliing ที่นำวัสดุเหลือใช้หรือแปลงสภาพขยะมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นซึ่งในต่างประเทศถือเป็นเทรนด์ที่มาแรงมีการแปลงขยะพลาสติกไปสู่สินค้าแฟชั่นหลากหลาย เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ฯลฯ สำหรับประเทศไทยแล้วถือว่าบริษัทพีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ GC เครือปตท.เป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนหลักที่เข้ามาดำเนินการโครงการ Upcycling The Oceans Thailand ด้วยการนำขยะจากทะเลไทยมาแปลงสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ที่ขณะนี้ได้นำออกมาจำหน่ายเพื่อนำเงินไปบริจาคให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา ดังนั้นในปี 2562 เชื่อว่าเทรนด์นี้ยังคงมาแรงต่อเนื่องเพราะทั่วโลกกำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือCircular Economy

10. การไฟฟ้ากับการรับมือเทคโนโลยี

รอบปีที่ผ่านมาคำว่า Disruptive Technology ได้ถูกกล่าวขานค่อนข้างมากสำหรับวงการพลังงาน โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในการผลิตไฟฟ้าที่มาแรงคือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย(โซลาร์รูฟท็อป) ที่ต้นทุนต่ำลง ขณะที่แบตเตอรี่สำรองที่เริ่มมการพัฒนามากขึ้น ทำให้ธุรกิจบริการต่างหันมาติดตั้งส่งผลให้จำนวนผู้ผลิตไฟเองใช้เองหรือ IPS มีปริมาณสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้การไฟฟ้าถูกจับตาเป็นพิเศษว่าจะรับมือกับเทรนด์นี้อย่างไรโดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในฐานะผุ้ผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ ซึ่งกฟผ.ได้มีการปรับองค์กรให้ลดขนาดเพื่อความคล่องตัวแล้วในปี 2561เชื่อว่าในปี 2562 คงจะเห็นอะไรๆ ตามมาอีกพอสมควรสำหรับบทบาทกฟผ.ที่ต้องเปลี่ยนรับกับยุคดิจิทัล
กำลังโหลดความคิดเห็น