ร.ฟ.ท.เตรียมงบ 100 ล้าน ปรับปรุงทางรถไฟแยกเข้าโรงกลั่นบางจาก ท่าเรือกรุงเทพ โดย กทท.มอบสิทธิร.ฟ.ท.ใช้สิทธิพื้นที่ 10 ปี ไม่คิดค่าใช้จ่าย คาดเสร็จใน 6-8 เดือน เปิดวิ่งรถขนส่งน้ำมันดิบเพชรของ “ปตท.สผ.” ได้ ด้าน “ไพรินทร์” ปิ๊งเดินรถโดยสาร ฝากเอกชนช่วยคิด วิ่งเชื่อมคลองเตย-สถานี MRT
วันที่ 24 ธ.ค. นายไพรินทร์ ชูโชตถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานในการลงนามสัญญาใช้สิทธิเหนือพื้นดินทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการปรับปรุงทางรถไฟ ในเขตพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) เป็นการอนุญาตให้ใช้พื้นที่เหนือพื้นดินจำนวน 5,912.29 ตารางวา เพื่อประโยชน์ในการเดินรถ การปฏิบัติการเดินรถซึ่งปัจจุบันมีสภาพชำรุดทรุดโทรมทำให้เกิดความไม่สะดวกในการขนส่งสินค้าทางรถไฟ
ร.ท.กมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการสายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ กทท.กล่าวว่า สัญญาดังกล่าว กทท.ได้ให้สิทธิ ร.ฟ.ท.ในการเข้าปรับปรุงระบบรางและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเดินรถซึ่ง ร.ฟ.ท.จะทำการรื้อถอนทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นฯ ที่มีอยู่เดิมที่มีสภาพชำรุดและเกิดอุบัติเหตุในการขนส่ง ทำให้ต้องยกเลิกการใช้เส้นทาง โดยให้ ร.ฟ.ท.ก่อสร้างทางรถไฟใหม่ตามแนวเส้นทางเดิม รวมถึงการก่อสร้างระบบและอุปกรณ์ต่างๆ รองรับการเดินรถที่มีความยาวทางรถไฟทั้งสิ้น 6,410.80 เมตร เป็นทางสายหลักตั้งแต่ กม.0+000 ถึง กม.6+410.80 ทางหลีกและทางแยกต่างๆ ความยาวรวม 340 เมตร และ ร.ฟ.ท.จะมีสิทธิเหนือพื้นดินเป็นระยะเวลา 10 ปี โดย กทท.ไม่คิดค่าใช้จ่าย และต่อได้อีกเป็นคราว คราวละ 5 ปี ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการเดินรถ และขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า เบื้องต้น ร.ฟ.ท.จะใช้งบประมาณปรับปรุงทางช่วงดังกล่าวประมาณ 100 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการ 6-8 เดือน เพื่อทำให้เส้นทางรถไฟกลับมาใช้ขนส่งได้อีกครั้ง โดย ร.ฟ.ท.จะเก็บค่าใช้รางจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เพื่อนำมาใช้คืนเงินลงทุนต่อไป
ทั้งนี้ การรถไฟฯ ยังได้รับการยกเว้นเรียกเก็บค่าใช้ประโยชน์ที่ดินหรือค่าใช้จ่ายจากการท่าเรือฯ มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับถัดจากวันลงนามในสัญญา และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว การท่าเรือฯ ยังตกลงให้การรถไฟฯ ใช้สิทธิเหนือพื้นดินต่อไปอีกคราวละ 5 ปี โดยการรถไฟฯ ต้องแสดงเจตนาขอใช้สิทธิเหนือพื้นดินเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบล่วงหน้าก่อนที่อายุสัญญาจะสิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 6 เดือน อย่างไรก็ดี การท่าเรือฯ ยังมีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านทางจากผู้ที่มาใช้บริการขนส่งทางรถไฟได้เป็นปกติ
“การรถไฟฯ หวังว่าการเข้าไปปรับปรุงทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจากในครั้งนี้จะสามารถช่วยลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ขนส่งให้กับประเทศ และลดปัญหาการจราจรแออัดบนท้องถนน รวมถึงเพิ่มปริมาณผู้ใช้บริการขนส่งสินค้า ตู้คอนเทนเนอร์น้ำมันดิบผ่านทางระบบขนส่งทางรางยิ่งขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์จากการขนส่งนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้มีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาว”
“ไพรินทร์” ฝาก ปตท.สผ.ช่วยคิดเดินรถโดยสาร ช่วยแก้จราจรตามแนวเส้นทาง
ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า เส้นทางดังกล่าวใช้สำหรับการขนส่งน้ำมันดิบเพชรจากจังหวัดกำแพงเพชรมายังโรงกลั่นน้ำมันบางจากในเขตท่าเรือกรุงเทพ โดยปัจจุบันทางรถไฟมีสภาพชำรุดทรุดโทรม และ ร.ฟ.ท.ได้ปิดการใช้งานเส้นทางสายนี้มาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว ทำให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ต้องขนส่งโดยใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่แทนทำให้เกิดปัญหาจราจร ขณะที่ใช้รถไฟขนน้ำมันดิบจะมีประมาณ 2 ขบวน/วันเท่านั้น ลดการใช้พลังงานและประหยัดต้นทุน มีความปลอดภัย
นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟดังกล่าวจะวิ่งจากบริเวณพระราม 4 คลองเตย ไปยังมักกะสัน และบางซื่อ ซึ่งนอกจากใช้ในการขนส่งน้ำมันดิบและสินค้าเข้าสู่ท่าเรือกรุงเทพแล้ว สามารถขนส่งผู้โดยสารได้อีกด้วย ดังนั้น ตนจึงได้เสนอให้ทาง ปตท.สผ.ช่วยทำการศึกษาเพิ่มเติม ในรูปแบบโครงการ CSR ในการขนส่งผู้โดยสารเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากบริเวณท่าเรือ ถนนพระราม 4 เพื่อให้สามารถไปใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่คลองเตยได้