“อุตตม” ดึงเอกชนยักษ์ใหญ่ไทย-เทศ ทั้ง Hong Kong Cyber Port และหน่วยงานส่งเสริม startup ของอิสราเอล ผู้นำสตาร์ทอัปของโลก แบงก์กรุงเทพ เอสซีจี ไทยเบฟ ปตท. ซีพี ฯลฯ ประเดิมลงขัน 500 ลบ. จัดตั้ง InnoSpace (Thailand) ครั้งแรกในไทยเพื่อเป็นแพลตฟอร์ม ดันเกิดสตาร์ทอัปไทยแบบครบวงจรพร้อมเปิดตัวต้นปี 2562
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มีการหารือถึงความร่วมมือการจัดตั้ง InnoSpace (Thailand) กับภาคเอกชนรายใหญ่ทั้งของไทยและต่างประเทศ โดยโครงการนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ถือเป็น National Startup Platform ในการส่งเสริมและพัฒนา Startup ไทย อย่างครบวงจร เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมอย่างยั่งยืน โดยจะมีกระบวนการบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการในทุกระดับ ครอบคลุมทุกสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาการเกษตร
ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทยไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ แพลตฟอร์มนี้จะผลักดันให้ Startup ไทยมีขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อก้าวสู่เวทีโลกได้รวดเร็วขึ้น จึงต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศหลายแห่ง ร่วมเป็นเครือข่ายพันธมิตรดำเนินโครงการ InnoSpace (Thailand) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางที่มีพลัง ช่วยส่งเสริมและพัฒนา Startup ไทยแบบครบวงจร โดยมีการเชิญชวนและสรรหาผู้ประกอบการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมูลค่าสูงเข้ามาร่วม เพื่อสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศในด้านองค์ความรู้ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีลักษณะ Open innovation ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด โดยใช้ชื่อว่า “บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด” หรือ InnoSpace (Thailand) Co., Ltd.คาดว่าจะจัดตั้งในต้นปี 2562 มีทุนประเดิมประมาณ 500 ล้านบาท
สำหรับเอกชนรายใหญ่ เป็นผู้ถือหุ้น อาทิ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จำกัด บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ เพื่อให้องค์กรเชื่อมโยงและรองรับนโยบายของภาครัฐได้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะเข้าร่วมถือหุ้นด้วย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จะสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ InnoSpace (Thailand) ในเชิงนโยบาย เพื่อประสาน ขับเคลื่อน และเติมเต็มการดำเนินงาน ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง พร้อมทั้งได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการส่งเสริม และพัฒนา startup จากต่างประเทศ คือ Hong Kong CyberPort และหน่วยงานส่งเสริม startup ประเทศอิสราเอล เพื่อขยายและเชื่อมต่อระบบนิเวศของไทยสู่สากล
ทางด้านสถานที่ตั้งโครงการ จะอยู่ในพื้นที่โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EECi ณ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จังหวัดระยอง และจะมีเครือข่ายอีก 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ ITC กล้วยน้ำไท และ ศูนย์ ITC จ.เชียงใหม่ CMU STeP มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และหลังจากนี้ จะเชื่อมโยงไปยังสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังจะยกระดับสินค้าภาคเกษตรไทยเชื่อมโยงอุตสาหกรรม
“ความร่วมมือใน 3 รูปแบบ คือ พันธมิตรด้านการบ่มเพาะ (Incubation Partner) พันธมิตรด้านองค์ความรู้ (Knowledge Partner) และพันธมิตรด้านการลงทุน (Investment Partner) คาดว่าจะมีเอกชน จากอีกหลายประเทศเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย โดยจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ของทุกหน่วยงานพันธมิตร เพื่อร่วมดำเนินการและจัดตั้งโครงการ InnoSpace (Thailand) ภายในเดือนมกราคม 2562” นายอุตตม กล่าว