สนข. รับฟังความเห็นคนเมืองอุดรธานี โชว์ผลศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะ ผุดขนส่งระบบรอง 6 เส้นทาง แก้จราจรเขตเมือง เชื่อมเดินทางท่องเที่ยว สะดวกรวดเร็ว หนุนเมืองฮับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวเปิดการประชุมสัมมนา ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี ว่า การศึกษาจัดทำแผนแม่บทดังกล่าว เพื่อให้จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการท่องเที่ยวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตามยุทธศาสตร์ ซึ่งมีการออกแบบเบื้องต้นโครงการนำร่อง รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีและจุดจอดแล้วจร หรือ TOD (Transit Oriented Development) และจัดทำแผนการจัดการจราจร เพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้เกิดการเชื่อมต่อและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก และใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คนทุกช่วงวัย รวมทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุ เข้าถึงได้
โดยที่ผ่านมา สนข. ได้ลงพื้นที่จัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อหารือและพบปะกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน 4 กลุ่มย่อย ประกอบด้วย ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เทศบาลนครอุดรธานี เทศบาลตำบลหนองบัว เทศบาลเมืองหนองสำโรง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และได้ลงพื้นที่สำรวจแนวเส้นทางโครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี
ซึ่งมี 6 แนวเส้นทาง คือ 1. สายสีแดง จากสถานีขนส่งผู้โดยสารอุดรธานีแห่งที่ 1 ถึงท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี 2. สายสีน้ำเงิน จากโกลบอลเฮ้าส์ บ้านตาด ถึงสวนสาธารณะหนองแด 3. สายสีเขียว จากบริเวณศาลแรงงานภาค 4 ถึงบริเวณโรงแรมเจริญโฮเต็ล 4. สายสีส้มจากสถานีรถไฟอุดรธานี วนกลับมาสิ้นสุดที่สถานีรถไฟอุดรธานี 5. สายสีชมพู จากทุ่งศรีเมือง ถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิทยาเขตอุดรธานี 6. สายสีเหลือง จากแยกบ้านเลื่อม (จุดตัดถนนโพศรีกับทางเลี่ยงเมืองฝั่งตะวันตก) ถึงแยกบ้านจั่น
ทั้งนี้ จังหวัดอุดรธานีถือได้ว่าเป็นจังหวัดชั้นนำของประเทศ และเป็นเมืองศูนย์กลางทางธุรกิจการคมนาคมและการท่องเที่ยวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง มีโครงข่ายระบบการคมนาคมขนส่งทั้งทางถนน ทางรถไฟ และทางเครื่องบิน และสามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้โดยสะดวก
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันจังหวัดอุดรธานีประสบปัญหาด้านการขนส่งและจราจร โดยเฉพาะในเขตเมืองอุดรธานีที่มีปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมากเช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆ ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ การขาดการวางแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ สามารถตอบสนองความต้องการในการเดินทางในพื้นที่เขตเมือง
ในขณะที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดอุดรธานี ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดความเชื่อมโยงของชุมชนและพื้นที่โดยรอบ รวมถึงการบริหารจัดการจราจร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรภายในเขตเทศบาลนครอุดรธานีและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีปริมาณการเดินทางสูง และมีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัญหาด้านการขนส่งและจราจรของจังหวัดอุดรธานีมีแนวโน้มยากต่อการแก้ไข และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนและบูรณาการร่วมกันเพื่อหาทางแก้ไขอย่างเหมาะสม รวมถึงต้องมีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับการเดินทางภายในเขตเมืองเชื่อมโยงพื้นที่โดยรอบและจังหวัดใกล้เคียง