xs
xsm
sm
md
lg

“ซีพี”ทุ่มสุดตัว คว้าสัมปทานรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน 2.24 แสนล.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รฟท.ถกเครียด ก่อนเคาะ “ซีพี” ชนะประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.24 แสนล. คว้า สัมปทาน 50 ปี โดยเสนอขอรัฐอุดหนุนต่ำกว่า กลุ่มบีเอสอาร์ แต่“รฟท.”ยังอุบราคา เร่งเจรจาต่อรองเคลียร์ตัวเลขรอบสุดท้ายสัปดาห์หน้า

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ พิจารณาการประกวดราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท  ซึ่งได้มีการพิจารณา ประเมินซองข้อเสนอซองที่ 3(ด้านการเงิน) ของ กลุ่ม กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) และ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดหรือซีพี และพันธมิตร ซึ่งผ่านเกณฑ์คะแนนด้านเทคนิคมาแล้ว ซึ่งผลการเปิดซองด้านการเงิน ซึ่งมีกรอบวงเงินการร่วมลงทุนของรัฐกับเอกชนไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท  พบว่า กลุ่มซีพี เสนอวงเงินที่ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ น้อยกว่า กลุ่ม บีเอสอาร์

ดังนั้นเท่ากับ กลุ่มซีพี เป็นผู้ได้รับคัดเลือกเป็นอันดับ1 ซึ่งคณะกรรมการจะเรียกซีพี มาเจรจาต่อรองต่อไป อย่างไรภายในสัปดาห์หน้าทางซีพีและพันธมิตร จะต้องเข้ามาชี้แจงตัวเลขบางจุดที่คณะกรรมการสงสัย ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 21 ธ.ค.นี้

“ตัวเลขที่ซีพีเสนอมานั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยออกมาได้ เนื่องจากยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณา โดยภายในสัปดาห์หน้าจะทราบผู้ชนะอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรองเงื่อนไขในซองที่4 ในสัปดาห์ถัดไป”

สำหรับการพิจารณา ข้อเสนอด้านการเงินนั้น มีเอกสาร 8 ฉบับได้แก่ เรื่องการเงิน บัญชีปริมาณงาน แผนธุรกิจในการดำเนินการโครงการ แผนการเงิน การจัดหาแหล่งเงินทุนที่ใช้ดำเนินโครงการ ทรัพย์สินที่ใช้ดำเนินโครงการ และกรรมสิทธิ์ของทรัพท์สิน แบบฟอร์มผลตอบแทนทางการเงินของโครงการตลอดอายุของสัญญาร่วมลงทุน แบบฟอร์มจำนวนเงินที่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐ และจำนวนเงินที่รัฐได้เอกชน อัตราค่าโดยสาร

โดยคณะกรรมการพิจารณาผลฯ ได้เริ่มการประชุมตั้งแต่เวลา 11.00 น. จนถึงเวลา 20.00 น. รวม 9 ชั่วโมง โดยบรรยากาศค่อนข้างตึงเครียด มีผู้แทนจากบริษัทซีพี เข้าร่วมประชุมในช่วงค่ำ ก่อนที่คณะกรรมการฯจะสรุปผลเบื้องต้น

สำหรับมูลค่าโครงการที่  224,544.36  ล้านบาทนั้น ประกอบด้วยค่าลงทุนรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน 168,718 ล้านบาท ค่าลงทุนแอร์พอร์ตลิงก์ ในส่วนค่าระบบอาณัติสัญญาและล้อเลื่อน  10,671.09  ล้านบาท  โดยรัฐจะรับภาระโครงสร้างพื้นฐานแอร์พอร์ต เรลลิงก์  22,558.06 ล้านบาทเอง นอกจากนี้ จะมีค่าพัฒนาที่ดิน (TOD) การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ บริเวณสถานีมักกะสัน 150 ไร่  และสถานีศรีราชา 25 ไร่อีกประมาณ 45,155.27ล้านบาท   

โดยหลังจากเจรจา กับผู้เสนอราคาต่ำสุด เรียบร้อย ขั้นตอนสุดท้ายจะร่างสัญญาโครงการ ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง คาดว่าสามารถประกาศผลการประมูลเสร็จได้ภายในต้นเดือนม.ค. 62 เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในกลางเดือนม.ค.62และจะลงนามสัญญาได้ภายใน 31 ม.ค.62 นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น