xs
xsm
sm
md
lg

“ปตท.สผ.” ภูมิใจมีวันนี้ พร้อมลุยลงทุนเอราวัณ-บงกชกว่าแสนล้านใน 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปตท.สผ.ภูมิใจหลังทำสำเร็จคว้าชนะประมูลแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ-บงกช ช่วยให้ประเทศและคนไทยได้ใช้ก๊าซฯ ราคาถูก เตรียมพร้อมลุยพัฒนาเพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซฯ แย้มอนาคตเปิดทางพันธมิตรร่วมทุนและยินดีหากจะเป็น "เชฟรอน" เผยเม็ดเงินทุน 5 ปีแรก (ปี 66-70) ทั้ง 2 แหล่งกว่า 1.5-1.6 แสนล้านบาท



นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าบริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ.รู้สึกภูมิใจและยินดีที่ได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ชนะการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกช ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565-66 โดยขั้นตอนหลังจากลงนามในสัญญาแล้วจะสามารถเดินหน้าเข้าไปสำรวจและผลิตเพิ่มเติมเพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซฯ ในแหล่งบงกชและเอราวัณให้ไม่ต่ำกว่า 700 และ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามลำดับตามเงื่อนไขรัฐที่กำหนดไว้ โดยการลงทุนประเมินเบื้องต้น 5 ปีแรก (ปี 66-70) แหล่งบงกชลงทุนประมาณ 400-500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และแหล่งเอราวัณ 600-650 ล้านเหรียญต่อปี หรือคิดรวม 5 ปีลงทุนกว่า 150,000- 160,000 ล้านบาท

สำหรับการประมูลครั้งนี้ ปตท.สผ.ได้ยื่นประมูลเองด้วยสัดส่วนการลงทุน 100% ในแหล่งบงกช ในขณะที่แหล่งเอราวัณนั้น ปตท.สผ.ประมูลร่วมกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ในสัดส่วนการลงทุน 60% และ 40% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่าต้องให้หน่วยงานรัฐเข้าร่วมถือหุ้นไม่เกิน 25% นั้นมติ ครม.ระบุว่าได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอว่าการให้สิทธิ์ในครั้งนี้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อกำหนดในเอกสารเชิญชวนให้ยื่นขอ (IFP) ที่ต้องการให้หน่วยงานรัฐเข้าร่วมลงทุนเพื่อตอบสนองความมั่นคงด้านพลังงานแล้วเพราะ ปตท.สผ.เป็นหน่วยงานรัฐ

"เรามีวิสัยทัศน์ Energy Partner of Choice ดังนั้น หลังจาก 1 ปีของการดำเนินงานแล้วตามข้อกำหนดก็สามารถเปิดหาพันธมิตรเข้าร่วมดำเนินการได้เพราะโลกนี้เราไม่สามารถอยู่ได้คนเดียวต้องทำให้คู่แข่งเป็นคู่ค้า เช่นอาจร่วมทุนหรือแลกพื้นที่ก็ได้ ถึงตอนนั้นจะดูอีกที และหากเป็นเชฟรอนเราก็ยินดี" นายพงศธรกล่าว

สำหรับราคาก๊าซฯ ที่เสนอค่าคงที่ 116 บาทต่อล้านบีทียูทั้งสองแหล่งในปีแรก จากนั้นจะอ้างอิงราคาน้ำมันซึ่งถือว่าเป็นราคาต่ำเนื่องจากการได้สิทธิ์ฯ ทั้งสองแหล่งเป็นเพียงการต่อยอดการลงทุนและสามารถลดต้นทุนด้านการบริหารจัดการให้ต่ำลงได้มากขึ้น เช่น ในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง การขนส่ง ฯลฯ ซึ่งผลประโยชน์ที่เสนอเป็นผลตอบแทนสูงสุดให้กับประเทศและประชาชนคนไทยจะได้รับประโยชน์ ขณะที่ ปตท.สผ.เองฐานะบริษัทมหาชนก็ยังสามารถรักษาระดับผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ที่ระดับ 10-15%



กำลังโหลดความคิดเห็น