xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ 4 เทรนด์บูมอีคอมเมิร์ซไทยพุ่ง 30% “ไพรซ์ซ่า” จ่อขยายแพลตฟอร์มใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมูลค่า 1.5 แสนล้านบาทแนวโน้มสดใส โตเฉลี่ยปีละ 20-30% จับตา 4 เทรนด์ปีหน้า (2562) ส่งตลาดโต ด้าน “ไพรซ์ซ่า” แย้มแผนปี 62 ลุยต่อยอดแพลตฟอร์มใหม่

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน "Priceza" เครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคาของไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซปีหน้า (2562) คาดว่าจะเกิด 4 เทรนด์ คือ

1. ธุรกิจทุกอย่างจะมุ่งสู่การค้าออนไลน์ ทุกธุรกิจจะสร้างแพลตฟอร์มการค้าอีคอมเมิร์ซขึ้นมาต่อเนื่อง 2. การค้าขายบน E-Marketplace จะเผชิญทั้งโอกาสและความท้าทายมากขึ้น 3. การจ่ายเงินชำระค่าสินค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จะเติบโตแบบก้าวกระโดด และ 4. การค้าหลากหลายช่องทาง (Omni Channel) จะมีบทบาทมากขึ้น



ทั้งนี้ ตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทยปี 2561 ทั้งแบบบีทูซี และซีทูซี คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โตเฉลี่ย 20-30% ต่อปี แต่ยังมีสัดส่วนไม่ถึง 2% จากมูลค่าตลาดค้าปลีกทั้งระบบในไทย ซึ่งตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 2 ในตลาดกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองจากประเทศอินโดนีเซีย


สำหรับปัจจัยบวกที่จะส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตต่อเนื่องในปี 2562 นั้น เช่น การเติบโตและการปรับตัวของช่องทางฟินเทคและอีเพย์เมนต์ต่างๆ การทำแคมเปญโปรโมชันของผู้เล่นในตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มนิยมการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น





นายธนาวัฒน์กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันคนไทยสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 50% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าภายในปี 2563 คนไทยจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากถึง 84% หรือประมาณ 59 ล้านคนจากจำนวนประชากรกว่า 70 ล้านคน และคนไทยใช้เวลากับโมบายล์อินเทอร์เน็ตมากถึง 4- 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งมากที่สุดในโลก ถือเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้คนไทยเข้าถึงการชอปปิ้งออนไลน์หรือตลาดอีคอมเมิร์ซได้มากขึ้นตามไปด้วย

ส่วนภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปี 2561 ถือว่าเติบโตอย่างน่าสนใจ เนื่องจากมีมาร์เกตเพลสรายใหม่จากต่างประเทศหลายรายเข้ามาดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการ และมีสินค้ากลุ่มข้ามพรมแดน (Cross Border) เข้ามาในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกัน สถานการณ์ดังกล่าวก็ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจอีคอมเมิร์ซปีนี้ดุเดือดมากขึ้นด้วย


นายธนาวัฒน์กล่าวในส่วนของธุรกิจไพรซ์ซ่าด้วยว่า จากข้อมูลของไพรซ์ซ่าในปี 2561 นี้ พบว่าสถานการณ์ยอดซื้อต่อตะกร้า (Average Basket Size) บนช่องทางอีคอมเมิร์ซ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-12 พ.ย.2561 อยู่ที่ 1,469 บาทต่อตะกร้า กลุ่มสินค้าที่เป็นที่นิยมมากที่สุดยังคงเป็นกลุ่มสินค้าหมวดเสื้อผ้าและแฟชั่น โทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสาร เครื่องใช้ไฟฟ้า รถและยานพาหนะ ตามลำดับ


ทั้งนี้ จำนวนสินค้าที่รวบรวมไว้บนเว็บไซต์ของเราในปี 2561 นี้เพิ่มขึ้นเป็น 51 ล้านรายการ จาก 28 ล้านรายการในปีที่ผ่านมา ซึ่งหากใช้เวลาดูสินค้าบนเว็บเราทุกชิ้น ชิ้นละ 5 วินาที จะต้องใช้เวลาดูถึง 8 ปี เรายังมีเครือข่ายพันธมิตรทั้งร้านค้า มาร์เกตเพลส แบรนด์สินค้า ช่องทางอีเพย์เมนต์ต่างๆ จำนวนมาก


“ปีนี้เราเห็นสัญญาณเติบโตที่ชัดเจนในกลุ่มไพรซ์ซ่า มันนี่ โดยมีรายได้เติบโตขึ้นจากปี 2561 ถึง 3 เท่า ในปี 2562 กลุ่มธุรกิจนี้จะครอบคลุมสถาบันการเงินมากขึ้น และครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายประเภทขึ้น เช่น มีบริการเปรียบเทียบประกันการเดินทาง คาดว่ากลุ่มธุรกิจนี้จะเติบโตขึ้นได้อีกประมาณ 2 เท่าตัว” นายธนาวัฒน์กล่าว

สำหรับแผนธุรกิจปี 2562 ของไพรซ์ซ่า จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มธุรกิจค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นของไพรซ์ซ่า 2. ไพรซ์ซ่า มันนี่ ช่องทางการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต 3. กลุ่มธุรกิจ PSPN เป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า โดยบริษัทจะจับมือกับพันธมิตรร่วมกันดำเนินธุรกิจ โดยเสริมจุดแกร่งของกันและกัน คาดว่าจะเปิดตัวพันธมิตรรายแรกได้ในช่วงไตรมาส 1/2562


กำลังโหลดความคิดเห็น