ครม.เห็นชอบโอนเดินรถสายสีเขียว รฟม.-กทม. เตรียมเซ็น MOU 3 ธ.ค. 61 ก่อนเปิดทดลองเดินรถ 6 ธ.ค.นี้ฟรี 4 เดือน ขณะที่ รฟม.เปิดลานจอดรถสถานีเคหะฯ ให้ใช้ฟรีเช่นกัน ยันบริหาร Park & Ride ตามแนวรถไฟฟ้าเอง ขณะที่อนุมัติร่างข้อบังคับ คุมค่าโดยสารสายสีม่วงและสีน้ำเงินใช้ 2 สายไม่เกิน 70 บาท
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (26 พ.ย.) ได้เห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (ไม่รวมอาคารจอดแล้วจร) ตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 (มาตรา 75 (5)) เพื่อดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ ซึ่ง รฟม.และ กทม.จะมีการลงนามใน MOU ในส่วนสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ในวันที่ 3 ธ.ค. 2561
ทั้งนี้ เพื่อให้ทันกับวันเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่ง กทม.ได้กำหนดไว้ในวันที่ 6 ธ.ค. 2561 ซึ่งจะเป็นการทดสอบระบบ โดยยังไม่เก็บค่าโดยสาร โดยจากการเจรจาคาดว่าจะเริ่มเก็บค่าโดยสารช่วงหลังสงกรานต์ 2562
สำหรับค่าใช้จ่ายของโครงการก่อสร้างสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2561 วงเงินรวม 63,927.78 ล้านบาท โดยเป็นค่าลงทุนในสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงิน 40,608.38 ล้านบาท ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ วงเงิน 23,319.40 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่ รฟม.ชำระไปแล้วด้วยงบประมาณที่ 7,938.82 ล้านบาท ขณะที่ กทม.จะต้องรับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาที่ยังไม่ได้ชำระคืนอีกด้วย เนื่องจากขั้นตอนการกู้เงินของ กทม.จะดำเนินการในไตรมาส 2/2562
*รฟม.บริหารอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) เพื่อมาตรฐานค่าบริการเดียวกัน
สำหรับลานจอดรถสถานีเคหะฯ ที่อยู่ปลายทางของสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ นั้นไม่มีการโอนให้ กทม.แต่อย่างใด โดย รฟม.จะดำเนินการเองเพื่อให้ค่าบริการเป็นอัตราเดียวกัน ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบในหลักการร่างข้อบังคับของ รฟม.ว่าด้วยอัตราค่าบริการจอดรถยนต์และวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ พ.ศ. .... 2561 อัตราค่าบริการเริ่มต้นสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเริ่มต้นที่ 10 บาท/2 ชั่วโมง สำหรับประชาชนทั่วไปซึ่งมิได้ใช้บริการรถไฟฟ้า เริ่มต้นที่ 20 บาท/ชั่วโมง สำหรับผู้ใช้บริการจอดรถยนต์รายเดือน เริ่มต้นที่ 1,000 บาท/เดือน และอัตราค่าบริการจอดรถจักรยานยนต์ เริ่มต้นที่ 10 บาท/4 ชั่วโมง
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า ในส่วนของลานจอดรถสถานีเคหะฯ นั้น ตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 61 รฟม.จะให้บริการฟรีไปก่อนเพื่อให้สอดคล้องกับการให้บริการฟรีของสายสีเขียว และจะเริ่มเก็บค่าบริการช่วงหลังสงกรานต์ 62 อย่างไรก็ตาม ตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าของ รฟม.มีอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) 11 อาคาร ลานจอดรถ 10 แห่ง ซึ่ง รฟม.ดำเนินการลงทุนติดตั้งระบบ และจ้างแรงงาน (Outsource) ทำงานในส่วนของบริการจอดรถ
*อนุมัติร่างข้อบังคับค่าโดยสารสายสีม่วงและสีน้ำเงิน 2 สาย ไม่เกิน 70 บาท
นอกจากนี้ ครม.ได้เห็นชอบร่างข้อบังคับ รฟม.ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม วิธีการจัดเก็บค่าโดยสารร่วม และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารร่วม ระหว่างรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง ช่วงบางไผ่-เตาปูน) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน พ.ศ. .... เนื่องจาก ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสารและการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน พ.ศ. .... และให้ใช้อัตราค่าโดยสารใหม่สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป
ซึ่งจะเป็นการประกาศอัตราค่าโดยสารร่วมของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ที่จะเปิดให้บริการบางส่วนในปี 2562 และค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งไม่มีค่าแรกเข้ากรณีใช้ 2 ระบบต่อเนื่องกัน โดยอัตราค่าโดยสารสูงสุดจะไม่เกิน 70 บาท ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ จะมีการปรับอัตราค่าโดยสาร 1 บาท ในสถานีที่ 5, 8, 11 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2561