xs
xsm
sm
md
lg

“ศิริ” งัดบี 20-ซื้อปาล์มผลิตไฟดันราคาปาล์มทะลายแตะ 3.20 บ./กก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ศิริ” มั่นใจ 3 มาตรการกระทรวงพลังงานหลักจะดูดซับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในเดือนพ.ค.ปี 2562 ได้ถึง 4 แสนตันเกือบเกลี้ยงสตณอก ดันราคาปาล์มทะลายราคาขยับสู่เป้าหมาย 3.20 บาทต่อ กก. จากขณะนี้ 2.50 บาทต่อ กก. วอนเกษตรกรอย่าเพิ่งรีบขาย กฟผ.จ่อซื้อถึงลานเทและโรงสกัดธ.ค.นี้

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินมาตรการ 3 แนวทางเพื่อแก้ไขราคาปาล์มตกต่ำ ได้แก่ 1. การรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) 1.6 แสนตันป้อนโรงไฟฟ้าบางปะกงผลิตไฟ 2. การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลเกรดพิเศษบี 20 ในรถบรรทุก และ 3. การเพิ่มสัดส่วนการผสมบี 100 ในดีเซลจากสัดส่วน 6.6% เป็น 6.9-7% หรือบี 7 โดยภายในปลายพ.ค.นี้คาดว่าจะสามารถดูดซับ CPO ในระบบได้ประมาณ 4 แสนตันจากที่สต็อกปัจจุบันอยู่ในระดับ 4.2-4.5 แสนตันซึ่งจะทำให้มีความสมดุลมากขึ้นและจะทำให้ราคาปาล์มทะลายอยู่ในระดับ 3.20 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.50 บาทต่อ กก.

“การรับซื้อ CPO เพื่อไปผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกงจะเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น แต่มาตรการที่เราตั้งใจไว้ว่าจะเป็นมาตรการระยะยาวและถาวรที่จะพยุงราคาปาล์มอย่างแท้จริง คือ บี 20 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่ล่าสุดทางผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ และฮีโน่ก็มาหารือและระบุว่าจะใช้บี 20 กับรถบรรทุกได้มากขึ้นโดยเฉพาะฮีโน่ที่มีรถบรรทุก 1.8 แสนคัน ยืนยันว่า 1 แสนคันใช้บี 20 ได้” นายศิริกล่าว

ปัจจุบันราคาบี 20 กระทรวงพลังงานกำหนดราคาจำหน่ายที่ต่ำกว่าราคาดีเซลปกติ (บี 7) เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีราคาต่ำกว่าเพียง 3 บาทต่อลิตรเป็นต่ำกว่า 5 บาทต่อลิตรตั้งแต่ 1 ธ.ค. - 28 ก.พ. 62 ซึ่งถือเป็นโปรโมชันพิเศษให้คาดว่าจะใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนประมาณ 700 ล้านบาท และด้วยการส่งเสริมดังกล่าวมั่นใจว่าจะทำให้เกิดการใช้บี 20 จำนวน 10 ล้านลิตรต่อวันในเดือน พ.ค. 62 จากขณะนี้การใช้อยู่ที่ 5 แสนลิตรต่อวัน และปลายปี 2562 จะเป็น 15 ล้านลิตรต่อวัน

สำหรับการนำไปผลิตไฟฟ้าที่บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรานั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะรับซื้อ CPO รวม 1.6 แสนตันในราคา 18 บาทต่อ กก. โดยจะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดหาจากเกษตรกรผู้ผลิตที่ลานเท และโรงสกัดที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยจะเริ่มรับซื้อในเดือน ธ.ค.นี้เป็นต้นไปและใช้ผลิตไฟระหว่าง ม.ค.-พ.ค. 62 จึงขอให้เกษตรกรอย่าเพิ่งรีบขาย

“กฟผ.จะใช้เงินในการซื้อ CPO จำนวน 2,880 ล้านบาท เป็นต้นทุนเชื้อเพลิงสูงกว่าค่าไฟฟ้า 1,354 ล้านบาท โดยส่วนต่างดังกล่าวจะได้รับชดเชยต้นทุนจากกระทรวงพาณิชย์ 525 ล้านบาท และอีก 829 ล้านบาทจะทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ เพื่อให้เป็นรายจ่ายเพื่อสังคม (PSA) ของ กฟผ.ที่จะทยอยส่งคืนไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า” นายศิริกล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรการดังกล่าวข้างต้นจะสามารถลดสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบสู่ระดับปกติและพยุงราคาปาล์มทะลายให้อยู่ระดับราคา 3.25 บาทต่อ กก.ได้ แต่สภาพโดยรวมของตลาดน้ำมันปาล์ม ยังมีปัจจัยกดดันจากการที่สหภาพยุโรป มีข้อกำหนดห้ามไม่ให้มีการใช้น้ำมันปาล์มในส่วนของอาหารและเชื้อเพลิง จึงยังไม่ควรเพิ่มผลผลิตปาล์มทะลายในช่วงนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น