xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฯ เปิดสัมปทานไอซีดีลาดกระบัง เผยซื้อซอง 10 ราย จับตา 30 พ.ย.เปิดยื่นชิงดำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การรถไฟฯ เผย 10 บริษัทแห่ซื้อซองประมูลโครงการบริหารไอซีดี ลาดกระบัง จับตา 30 พ.ย.เปิดยื่นซองชิงดำสัมปทาน 20 ปี

นางสิริมา หิรัญเจริญเวช รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบัง เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมีความประสงค์จะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนและบริหารจัดการโครงการไอซีดี ลาดกระบัง จึงได้ทำการเปิดจำหน่ายเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุน โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 1 พ.ย. 2561 โดยมีบริษัทเอกชนและบุคคลที่ให้ความสนใจเข้าซื้อเอกสาร จำนวน 10 ราย ประกอบไปด้วย

1. บริษัท แหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินัล จำกัด
2. บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท ริเวอร์เอนจิเนียริ่ง จำกัด
4. บริษัท อีสเทิร์น ซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด
5. บริษัท เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล(ประเทศไทย) จำกัด
6. บริษัท คอนเทนเนอร์ ดีโป้ กรุงเทพ จำกัด
7. นายประกิจ แก้วแกลบ
8. บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด
9. บริษัท บางกอกโมเดอร์น
10. บริษัท วันไฮไลส์ จำกัด กระทำการแทน โดย บริษัทวันไฮไลท์ ประเทศไทย จำกัด

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้มีการชี้แจงรายละเอียดและตอบคำถามแก่บริษัทที่สนใจเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา โดยกำหนดการรับซองเอกสาร ในวันศุกร์ที่ 30 พ.ย. 2561 ณ ห้องประชุม สถานีรถไฟบางซ่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย ถนนประชาชื่น เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น. จากนั้นจะประกาศผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนภายใน 45 วัน นับจากวันที่ยื่นซองเอกสารเสนอราคา ที่ฝ่ายบริการสินค้า การรถไฟแห่งประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการร่วมลงทุนประกอบการไอซีดี ลาดกระบัง มีพื้นที่ 647 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี มูลค่าประมาณ4 หมื่นล้านบาท โดย ร.ฟ.ท.เปิดสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งให้การรถไฟฯ เป็นผู้ดำเนินการสรรหาเอกชน เพื่อรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการ ไอซีดี ลาดกระบังใหม่ ตามพระราชบัญญัติให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการบรรจุและแยกตู้สินค้า (Container) ที่มีการนำเข้า หรือการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ลดต้นทุนด้านการใช้พลังงานขนส่งสินค้าตามนโยบายของรัฐ และช่วยลดต้นทุนการในการขนส่งให้ผู้ส่งออกและนำเข้าของต่างประเทศ เนื่องจากระบบเป็นการขนส่งที่ใช้ต้นทุนต่ำ แต่สามารถขนส่งสินค้าได้ครั้งละเป็นจำนวนมาก มีความปลอดภัย ช่วยลดปัญหาด้านจราจร และช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น