xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.อัดงบกว่า 800 ล้าน ปี 62 ช่วยเหลือเอสเอ็มอี 5,000 กิจการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กสอ.วางงบประมาณีป 2562 กว่า 800 ล้านบาท อัด 80 โครงการช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs 5,000 กิจการ ปั้นวิสาหกิจชุมชนกว่า 2,000 ราย ยกระดับผลิตภัณฑ์การบริการ พัฒนาบุคลากร คาดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจรวมไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กสอ.ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการกว่า 800 ล้านบาท โดยมี 80 โครงการ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ประมาณ 5,000 กิจการ พัฒนาผู้ประกอบการ/บุคลากรอุตสาหกรรม ประมาณกว่า 25,000 คน พัฒนาวิสาหกิจชุมชนกว่า 2,000 ราย ยกระดับผลิตภัณฑ์และการบริการอีกประมาณกว่า 2,000 รายการ คาดว่าการส่งเสริมทั้งหมดจะเกิดมูลค่า ทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การดำเนินงานที่สำคัญในปีถัดไปจะอยู่ภายใต้นโยบาย “From Local to Global” by Marketing and Innovation คือ ผลักดันให้ผู้ประกอบการก้าวสู่ระดับภูมิภาค และระดับโลกมากขึ้นด้วยกระบวนการที่สำคัญ 2 รูปแบบ ได้แก่ การตลาดนำการส่งเสริม ซึ่งเป็นแนวคิดด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้ปริมาณการผลิตและความต้องการสินค้าต่างๆ เกิดความสมดุล พร้อมช่วยลดปัญหาการสต๊อกสินค้าและสินค้าล้นตลาด ซึ่ง กสอ.จะมุ่งให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการทำน้อยให้ได้มาก เปลี่ยนแนวคิดการผลิตจากเดิมที่หวังผลผลิตสูงสุดเป็นกำไรสูงสุด ได้แก่ การผลักดันสู่ช่องทางการค้าออนไลน์ เช่น อาลีบาบา ลาซาด้า ซึ่งปี 2562 ได้ตั้งเป้าให้ SMEs เข้าสู่ช่องทางดังกล่าวไม่น้อยกว่า 10,000 ราย เป็นต้น, นวัตกรรมนำการส่งเสริม เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของเอสเอ็มอีด้วยการนำผลงานวิจัยหรือกระบวนการใหม่ๆ มาใช้รังสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดและเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ เช่น การเชื่อมโยงความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในการนำงานวิจัยไปต่อยอดสินค้า หรือพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ การสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น อาหารแห่งอนาคต เกษตรแปรรูป ผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยว ฯลฯ เป็นต้น

สำหรับการส่งเสริมผู้ประกอบการของ กสอ.ในปีถัดไป ยังจะมุ่งเน้นการดำเนินงานให้มีลักษณะเหมือน “โค้ช” ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ชี้แนวทางปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ การถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ที่จำเป็นต่างๆ เป็นที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงทั้งปัญหาทั่วไป และปัญหาเฉพาะด้าน โดยได้วาง “โค้ช” ไว้ 4 กลุ่มได้แก่ 1. โค้ชเตรียมความพร้อมสู่ยุค 4.0 โดยในกลุ่มนี้จะใช้ผู้เชี่ยวชาญ บริการและเครื่องมือที่ทันสมัยพัฒนาให้ SMEs รู้จักกระบวนการทางธุรกิจที่ก้าวหน้ามากกว่าองค์ความรู้เดิมๆ โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม การแปรรูป และการออกแบบ

2. โค้ชการค้า การขาย และช่องทางจำหน่ายในตลาด ที่จะมุ่งเน้นการให้ความรู้ผ่านการฝึกอบรมต่างๆ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ 3. โค้ชสนับสนุนด้านสินเชื่อและเงินทุน โดยจะให้คำปรึกษาและการฝึกปฏิบัติด้านการเขียนแผนธุรกิจเพื่อขอรับทุนการให้องค์ความรู้เรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการยื่นคำขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เพื่อให้ SMEs มีขีดความสามารถทางธุรกิจโดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าสินค้าและการบริการในทิศทางที่ดีขึ้น 4. โค้ชเชื่อมโยง SMEs สู่ระดับโกลบัล เป็นการบ่มเพาะและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการที่มีศัยภาพ ตั้งแต่ส่วนกลางไปจนถึงส่วนภูมิภาคให้ก้าวสู่ตลาดโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น