xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.แย้มมีผู้ยื่นขายไฟขยะชุมชนควิกวินแล้วมั่นใจเดินได้ตามแผน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“กกพ.” เผยเริ่มมีผู้มายื่นคำร้องเสนอขายไฟจากขยะชุมชนรูปแบบ FiT หรือ Quick win Project ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 78 เมกะวัตต์แล้วหลังกกพ.ขยายระยะเวลายื่นคำร้องถึง 31 มี.ค.62 และให้SCOD เป็นปี 64 มั่นใจจะเดินหน้าตามเป้าหมาย ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเพิ่มเติมใหม่ต้องรอนโยบายรัฐคาดชัดเจนหลังแผนพีดีพีแล้วเสร็จ

น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรับซื้อไฟฟ้าประมาณ78 เมกะวัตต์ (MW) หรือ Quick Win Projects ซึ่งมีบัญชีความพร้อมของโครงการจากกระทรวงมหาดไทย 12 โครงการ 8พื้นที่ ว่า หลังจากที่กกพ.ได้ขยายเวลาเปิดให้ยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าจากเดิม 1ธ.ค.60-30 ก.ย.61 เป็นวันที่ 1 ธ.ค.60-31 มี.ค.62 และเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(SCOD) จากภายในปี 2562 เป็นภายในปี 2564 ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายได้ยื่นข้อเสนอโครงการเข้ามาที่กกพ.แล้วคาดว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวจะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

“ กรณีที่มีผู้ระบุว่าโครงการนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นได้นั้นก็เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นตามนั้นเพราะเริ่มมีบางรายยื่นคำร้องเข้ามาแล้วและการที่ขยาย SCOD ออกไปก็น่าจะทำให้กระบวนการดำเนินงานต่างๆ มีระยะเวลาจัดการมากขึ้น โดยหลังจากครบกำหนดยื่นคำร้องทางกกพ.จะประกาศผู้ที่ผ่านการพิจารณาภายใน 30 เม.ย. 62 ”น.ส.นฤภัทรกล่าว
สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะภายใต้กรอบแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(AEDP 2015) ที่กำหนดปลายแผนจะซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมและชุมชนรวม 550 เมกะวัตต์จะมีการเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อหรือไม่ทางกกพ.คงต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐบาลที่ขณะนี้ทราบว่าทางกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการประสานกับกระทรวงมหาดไทยถึงแนวทางการดำเนินงานคาดว่านโยบายดังกล่าวจะชัดเจนหลังจากจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี ฉบับใหม่)แล้วเสร็จ

เช่นเดียวกับโครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) ที่อาจเปิดให้ขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้เข้าระบบนั้น กกพ.ยังรอติดตามนโยบายรัฐ ตาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงปลายปีนี้เช่นกัน ซึ่งหากรัฐมีนโยบายให้ขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบได้ ในส่วนของ กกพ.ก็จะต้องไปจัดทำระเบียบต่างๆเพื่อรองรับการปฏิบัติ ที่ต้องดูเรื่องความพร้อมของสายส่ง กำหนดมาตรฐาน และความปลอดภัยต่อไป

อย่างไรก็ตามนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอดีตทั้งในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า(แอดเดอร์) และการให้สนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง(Fedd in Tariff )หรือFiT กกพ.ได้มีการประเมินผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(ค่า Ft) ในปี2562 คาดว่าจะกระทบต่อ Ft อยู่ที่ประมาณ 27.34 สตางค์ต่อหน่วย หรือ คิดเป็นมูลค่ารวม 47,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีผลกระทบต่อค่าFt อยูที่ 25.17 สตางค์ต่อหน่วย หรือ คิดเป็นมูลค่ารวม 43,279 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น