ทล.ฟังเสียงนักลงทุน เปิด PPP ทางยกระดับพระราม 2 ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว 25 กม. มูลค่า 4.8 หมื่นล้าน สัมปทาน 30 ปี รับรถเชื่อมต่อด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง ทะลวงคอขวดลงภาคใต้ คาดประมูลกลางปี 62 ก่อสร้าง 3 ปี เปิดบริการปี 66 ส่วน 10 กม.แรกเทงบ 1.05 หมื่นล้านสร้างนำร่อง ขายซองใน พ.ย.นี้
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) การศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (M82) สายบางขุนเทียน-ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ว่าทางยกระดับช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว หรือมอเตอร์เวย์ M82 เป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ ระยะ 20 ปี (2560-2579) และแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน (Action Plan) มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ในการเดินทางลงสู่พื้นที่ภาคใต้
โดยมีตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชน กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มนักลงทุน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และสมาคมการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งโครงการนี้เป็น BTO (Build-Transfer-Operation) ใช้รูปแบบร่วมลงทุน PPP Net Cost คือ รัฐให้สิทธิ์เอกชนในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางและเอกชนจ่ายค่าสัมปทานและส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐตามข้อกำหนด โดยจะสรุปรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติในต้นปี 2562 เริ่มดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ช่วงกลางปี 2562 ก่อสร้างต้นปี 2563 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการปี 2566
มอเตอร์เวย์ M82 ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว เป็นทางยกระดับบนเกาะกลาง ถ.พระราม 2 ขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นบริเวณบางขุนเทียน เชื่อมต่อกับโครงการทางด่วน สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ ด้านตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) สิ้นสุดที่บริเวณก่อนถึงแยกบ้านแพ้ว (จุดตัดทางหลวงหมายเลข 3097) ประมาณ 2 กม. รวมระยะทาง 25 กม. มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 6 แห่ง
มูลค่าโครงการรวม 48,310 ล้านบาท โดยระยะที่ 1 จะเป็นการก่อสร้างซึ่งรัฐลงทุนค่าเวนคืน 640 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา ช่วง 10 กม.แรกตั้งแต่บางขุนเทียน-เอกชัย วงเงิน10,500 ล้านบาท ส่วนเอกชนจะต้องจัดหาแหล่งเงินเพื่อลงทุนก่อสร้างโยธาต่อไปจนสิ้นสุดโครงการถึงบ้านแพ้ว ระยะทาง 15 กม.วงเงิน 19,140 ล้านบาท รวมทั้งก่อสร้างและติดตั้งงานระบบตลอดทั้งโครงการ (ตั้งแต่บางขุนเทียนถึงบ้านแพ้ว) เช่น ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง, ระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจร, อาคารศูนย์ควบคุมกลาง, ระบบโครงข่ายสื่อสาร ,ระบบการจ่ายกำลังไฟฟ้า วงเงิน 21,070 ล้านบาท
ระยะที่ 2 การบริหารโครงการและซ่อมบำรุง (O&M) วงเงิน 16,100 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าดำเนินงาน 6,300 ล้านบาท ค่าบำรุงรักษา 9,800 ล้านบาท ซึ่งเอกชนลงทุนในระยะ 30 ปี
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันถนนพระราม 2 มีปริมาณจราจรสูง 1-1.5 แสนคัน/วัน ปี 66 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.7 แสนคัน/วัน โดยประเมินว่า ในปี 66 (ปีแรกที่เปิด) จะมีปริมาณจราจรใช้มอเตอร์เวย์ M82 ที่ 4.8 หมื่นคัน/วัน หรือมีรายได้จากค่าผ่านทาง 3 ล้านบาท/วัน และในช่วง 4 ปีแรกมีปริมาณจราจรที่ 5-7 หมื่นคัน/วัน มีรายได้ประมาณ 1,000-1,300 ล้านบาท/ปี จนปีสุดท้ายคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2.2 แสนคัน/วัน หรือเติบโต 10-15% มีรายได้ประมาณ 8,000 ล้านบาท
โดยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางตามระยะทาง ภายใต้ระบบปิด (Closed System) เก็บค่าผ่านทางที่ 60 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ (ค่าแรกเข้า 10 บาท บวก กม.ละ 2 บาท) สำหรับรถ 6 ล้อ เก็บค่าแรกเข้า 16 บาท บวก กม.ละ 3.2 บาท สำหรับรถมากกว่า 6 ล้อขึ้นไป เก็บค่าแรกเข้า 23 บาท บวก กม.ละ 4.6 บาท
ประเมินผลตอบแทนโครงการ (Project IRR) ประมาณ 8.2% ตลอด 30 ปี ทั้งนี้ไม่รวมต้นทุนทางการเงิน ภาษี ของเอกชน และการลดต้นทุนโครงการอยู่ที่ความสามารถของเอกชน ซึ่งจะมีผลต่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น
พ.ย.นี้ ประมูล 3 สัญญาช่วง 10 กม.แรก 1.05 หมื่นล้าน
นายอานนท์กล่าวว่า ในเดือน พ.ย. กรมฯ เตรียมประกาศประมูลก่อสร้างงานโยธา 10 กม. ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ซึ่งได้รับงบประมาณ 1.05 หมื่นล้านบาท (งบผูกพันปี 62-64) โดยแบ่งเป็น 3 สัญญา วงเงิน 4 พันล้านบาท, 4 พันล้านบาท และ 2.5 พันล้านบาท ตามลำดับ คาดว่าจะผู้รับจ้างต้นปี 62 และเริ่มก่อสร้างต่อไป