xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ปลื้มอุโมงค์รัชโยธิน สั่ง สนข.ศึกษาหาจุดจราจรวิกฤตทำเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“นายกฯ” ชูอุโมงค์ลอดแยกรัชโยธินตัวอย่าง สร้างเร็ว-ประหยัดงบ สั่ง “คมนาคม-สนข.” ศึกษา 3 เดือนหาจุดทำเพิ่ม เร่งแก้แยกที่มีวิกฤตจราจร พร้อมจัดงบก่อสร้างให้ทันที ด้าน ผอ.สนข.รับลูก เร่งทบทวนการศึกษา เน้นแนววงแหวนชั้นใน ถ.รัชดาฯ ทางแยกไม่มีไฟแดง จราจรผ่านตลอด

นายาอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากมีการเปิดใช้อุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธินเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถเร่งรัดผู้รับเหมาก่อสร้างได้เร็วกว่าแผนและประหยัดค่าก่อสร้างลงกว่าแผนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาสำรวจจุดทางแยกที่มีปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครที่สามารถดำเนินการเป็นอุโมงค์หรือสะพานลอยได้ทันที โดยให้ศึกษารายละเอียดให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

ทั้งนี้ หากพบจุดใดที่สามารถดำเนินการได้ทันที และสามารถแก้ปัญหาจราจรให้ประชาชนได้ ทางรัฐบาลพร้อมจัดงบประมาณเพื่อให้ดำเนินการ

“อุโมงค์รัชโยธินถือว่ามีความเรียบร้อยดี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ปรับปรุงและเพิ่มป้ายบอกทางให้ชัดเจน รวมถึงแสงสว่างในอุโมงค์ที่ต้องปรับระดับแสงไม่ให้หลอกตาผู้ขับขี่ด้วย”

ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า รฟม.สามารถเร่งรัดผู้รับเหมาให้ก่อสร้างอุโมงค์รัชโยธินที่ใช้เทคนิคพิเศษและสามารถทำเสร็จในเวลาเพียง 21 เดือน เร็วกว่ากำหนด 3 เดือน และใช้งบประมาณลดลงจาก 1,500 ล้านบาท เหลือแค่ 1,200 ล้านบาท ถือเป็นอุโมงค์ตัวอย่างที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาจราจรในจุดอื่นได้

ทั้งนี้ เมื่อ สนข.ศึกษาแล้วเสร็จกระทรวงคมนาคมจะนำเสนอรัฐบาลให้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับอุโมงค์รัชโยธินหลังเปิดใช้ช่วยระบายการจราจรได้มาก แต่อาจยังมีติดขัดในพื้นที่ต่อเนื่องแยกอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถจัดไฟสัญญาณ หรือจัดจราจรรองรับได้หมด ซึ่งมีปริมาณรถจำนวนมาก

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า สนข.มีแผนการทบทวนผลการศึกษาเดิมเพื่อปรับให้เหมาะสมกับสภาพจราจร และโครงการรถไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยจะศึกษาครอบคลุมไปถึงอุโมงค์และสะพานข้ามทางแยก พร้อมกับจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการ โดยเน้นตามแนววงแหวนชั้นใน ถ.รัชดาภิเษกทุกแยกที่การจราจรต้องผ่านได้ตลอด ไม่มีแยกไฟแดง และทางแยกที่สำคัญ เป็นลำดับแรก โดยจะประสานกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อาจมีการตั้งงบประมาณก่อสร้างไปบ้างแล้วในบางทางแยก

นอกจากนี้ยังศึกษาจุดจอดรถที่เหมาะสมเพื่อรองรับการใช้รถไฟฟ้า และจัดทำแผนงานโครงการเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี( ครม.) ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น