ผู้จัดการรายวัน 360 - “เถ้าแก่น้อย” สยายปีกร้านอาหารญี่ปุ่นลดเสี่ยงพึ่งพาธุรกิจเดียว พร้อมรุกช่องทางรีเทลตัวเองหนัก แผน 4 ปีทุ่ม 200 ล้านบาท หวังครบ 100 สาขา ชู 3 โมเดล โหมแบบพลัส เจาะนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นร้านของฝาก
นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมแตกไลน์ธุรกิจสู่ร้านอาหารญี่ปุ่น ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาจากญี่ปุ่น เป็นอาหารทั้งคาวและหวานเพื่อสุขภาพ จะเปิดได้ในปลายปีนี้ ถือเป็นการทดลองถ้าหากไปได้ดีก็จะขยายต่อเนื่อง เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการพึ่งพาธุรกิจจากสาหร่ายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
“ตลาดสาหร่ายแปรรูปในไทยแข่งขันสูง แต่เติบโตน้อยไม่มากเหมือนในอดีต แม้ว่าเราจะเป็นผู้นำตลาดก็ตามด้วยส่วนแบ่งมากกว่า 70% ส่วนอันดับที่ 2 กับ 3 รวมกันก็กว่า 20% เท่านั้น ที่เหลือเป็นรายย่อยๆ จากมูลค่าตลาดรวมกว่า 3,000 ล้านบาท เติบโต 8-9% ขณะที่ตลาดรวมสแน็กมีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท โตแค่ 5-65 เท่านั้นเอง แต่เราก็ต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดเดิมซึ่งจะต้องพึ่งนวัตกรรมมากขึ้น แต่ละปีเราจะมีสินค้าสาหร่ายนวัตกรรมไม่ต่ำกว่า 1-2 ตัว และมองหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ” นายอิทธิพัทธ์กล่าว
สำหรับแผนธุรกิจของสาหร่ายเถ้าแก่น้อย นายอิทธิพัทธ์กล่าวว่า จะรุกตลาดในช่องทางร้านค้ารีเทลที่เป็นของบริษัทฯ เองมากขึ้น ควบคู่ไปกับช่องทางจำหน่ายอื่นที่เป็นโมเดิร์นเทรดกับเทรดิชันนัลเทรดที่อื่นด้วย โดยแผนธุรกิจ 4 ปีเริ่มปี 2561 นี้ ตั้งงบการลงทุนขยายร้านรีเทลไว้รวม 150-200 ล้านบาท จะเปิดให้ครบ 100 สาขา แบ่งเป็น 1. ร้านเถ้าแก่น้อยมินิ พื้นที่ 30 ตารางเมตร ลงทุน 1 ล้านบาทต่อสาขา, 2. ร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ พื้นที่ 50-150 ตารางเมตร ลงทุน 2-3 ล้านบาทต่อสาขา เน้นสินค้าในเครือเป็นหลัก
3. เถ้าแก่น้อยแลนด์พลัส พื้นที่ 150-300 ตารางเมตร ลงทุน 2-3 ล้านบาท มีสินค้าในเครือและสินค้านอกเครือ 50% เท่ากัน ทั้งสแน็ก ผลิตภัณฑ์กลุ่มสุขภาพ สปา ครีมบำรุงผิว สิ่งทอและของฝาก ของที่ระลึกอื่นๆ และสินค้าท้องถิ่นของไทยด้วย โมเดลนี้มุ่งหวังให้เป็นร้านค้าที่เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยที่ต้องการซื้อของฝาก ซึ่งจะขยายโมเดลนี้ไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อย่างน้อย 80 แห่งทั่วประเทศ โดยสาขาแรกของโมเดลเถ้าแก่น้อยแลนด์พลัสเปิดแล้วที่เซ็นเตอร์พ้อยท์ สยามสแควร์ และจะเปิดอีกแห่งปลายปีนี้ที่จังซีลอน ภูเก็ต
ปัจจุบันบริษัทฯ มีสาขารวมทุกโมเดล 20 สาขา และมีรายได้จากช่องทางร้านรีเทลของตัวเอง 300 ล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทภายใน 4 ปีจากนี้ เมื่อมีครบ 100 สาขา แบ่งเป็น เถ้าแก่น้อยแลนด์พลัส 40 สาขา, เถ้าแก่น้อยแลนด์ 30 สาขา และเถ้าแก่น้อยมินิ 30 สาขา
“แต่เดิมลูกค้าใช้เวลาอยู่ในร้านของเราประมาณ 20-30 นาที มีการซื้อสินค้าไม่ต่ำกว่า 400-500 บาทต่อบิล แต่เมื่อเราปรับมาเป็นพลัสแล้ว ทำให้ลูกค้าอยู่ในร้านนานขึ้นและจ่ายเพิ่มเป็น 600 บาทต่อบิล แต่เป้าหมายเราต้องการอยู่ที่ 800-1,000 บาทต่อบิล และลูกค้าอยู่ในร้านประมาณ 30-60 นาที ซึ่งร้านโมเดลนี้เราต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะ โดยเฉพาะจีนที่เป็นตลาดหลักเพราะที่ผ่านมาคนจีนซื้อสินค้าของเราในร้านเราแล้วแต่ต้องไปซื้อสินค้าของฝากที่อื่นอีก เราจึงมองโอกาสตรงนี้ด้วย” นายอิทธิพัทธ์กล่าว
ล่าสุดบริษัทฯ ได้เปิดตัว “เบลล่า-ราณี แคมเปน” นักแสดงชื่อดังเป็นพรีเซ็นเตอร์รวมทั้งเพื่อเป็นการโปรโมตให้ร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์พลัสเป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนอาจจะได้รับผลกระทบบ้างเพราะมีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้น และจีนเป็นตลาดหลักของเรามากกว่า 70% ในกลุ่มต่างชาติ แต่ตอนนี้เริ่มดีขึ้นมาแล้ว
ปีที่แล้ว (2560) บริษัทฯ มียอดขายรวม 5,200 ล้านบาท และคาดว่ายอดขายรวมปีนี้จะทรงตัว มาจากต่างประเทศ 60% (โดยมาจากจีน 30%) และในไทย 40% ส่วนรายได้จากอเมริกาจะเริ่มรับรู้ปี 2568 ประมาณ 2,000 ล้านบาท