xs
xsm
sm
md
lg

ทลฉ.-ชินโจว เซ็นท่าเรือพี่น้อง หวังลดต้นทุนสายเรือ เพิ่มความถี่เดินเรือขนส่งสินค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ท่าเรือแหลมบังเซ็นข้อตกลงท่าเรือชินโจวของจีน ร่วมพัฒนาขยายการเดินเรือและเพิ่มการขนส่งสินค้าระหว่างกัน ภายใต้ One Belt One Road สายเรือหวังช่วยลดต้นทุนและขั้นตอนผ่านท่า จ่อเพิ่มความถี่เดินเรือจาก 2-3 เที่ยว/สัปดาห์เป็นทุกวัน

ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท.โดยท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ได้ลงนามข้อตกลงท่าเรือพี่น้องกับ นางลี่ เซี่ย ฮวั่วหมิง ผู้ช่วยผู้อำนวยการและผู้จัดการฝ่ายพัฒนาการตลาด บริษัท เป่ยปู้-พีเอสเอ คอนเทนเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ผู้แทนของท่าเรือชินโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งเสริมการค้าที่มีการขยายตัวและการให้บริการระหว่างกันภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road พร้อมการขยายโอกาสทางธุรกิจและการขนส่ง

โดยการทำความร่วมมือกับท่าเรือชินโจวเป็นท่าเรือพี่น้องนั้นจะเกิดความร่วมมือระหว่างกันในการแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะต้นทุนการขนส่ง เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งระหว่างกัน เพราะจีนเองมีปัญหากระบวนการภายในเรื่องกฎหมายในระหว่างมณฑล และแม้จีนจะปรับลดค่าภาระต่างๆ แต่สายเรือต้องการเรื่องความคล่องตัวในด้านพิธีการนำเข้า-ส่งออกมากกว่า รวมถึงการแก้ปัญหาเที่ยวเปล่าในขากลับ เป็นต้น

ดังนั้น ภายใต้ความร่วมมือนี้จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อประชุม JOINT WORKING GROUP MEETING เจรจารายละเอียด ส่วนผู้บริหารจะประชุมร่วมกันทุก 2 ปี ในการส่งเสริมการค้าและการให้บริการระหว่างท่าเรือ

“ปัจจุบันมีการเดินเรือจากแหลมฉบัง-ชินโจว สัปดาห์ 2-3 เที่ยว แต่หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีการเดินเรือเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยเส้นทางนี้ถือเป็นสายสั้น เป็นเรือฟีดเดอร์ขนาดเล็กและกลาง จะเน้นการเดินเรือชายฝั่งเป็นหลัก จากท่าเรือชินโจว (จีน)-ท่าเรือไฮฟอง-เว้-ดานัง (เวียดนาม)-กัมปงโสม (สีหนุวิลล์ กัมพูชา)-แหลมฉบัง-ท่าเรือกรุงเทพ เป็นปลายทาง โดยขนส่งยางพารา ผลไม้ มังคุด กล้วยหอม ทุเรียน”

ทั้งนี้ ท่าเรือชินโจวตั้งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของจีน บริเวณอ่าวเป่ยปู้ เป็นท่าเรือศูนย์กลางของจีนที่เชื่อมโยงภายในของจีนเอง โดยมีระบบรางเชื่อมภายในที่ดี และมีศักยภาพในการเชื่อมการเดินเรือโดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจีนได้พัฒนาอย่างมากมีขีดความสามารถ รองรับสินค้าได้ 114 ล้านตันต่อปี มีท่าเรือคอนเทนเนอร์ยาว 10 กม. ซึ่งในปี 2558 มีปริมาณสินค้าผ่านท่า 65.102 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.5% มีปริมาณตู้สินค้า 941,800 ทีอียู เพิ่มขึ้น 34.15% และปี 2560 มีปริมาณสินค้ากว่า 83 ล้านตัน และมีถึง 1.77 ล้านทีอียู และในปี 2561 (ในรอบ 8 เดือน) มีสินค้า 73.8 ล้านตัน และมีตู้สินค้า 1.67 ล้านทีอียู

สำหรับจีนนับเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยปี 2560 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันถึง 2 ล้านล้านบาท หรือ 16% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย ซึ่งท่าเรือชินโจวเป็น 1 ใน 3 ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ในเขตปกครองตนเองกว่างชีจ้วง โดยเป็นท่าเรือศูนย์กลาง ปัจจุบันสินค้าที่ขนส่งระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือชิวโจว ได้แก่ บุหรี่ ผลไม้ (มังคุด และทุเรียน) แผ่นอะลูมิเนียม เป็นต้น หลังจากที่รัฐบาลจีนกลางได้มีนโยบายให้ท่าเรือชินโจว มีการให้บริการด้านพิธีการและการตรวจสอบสินค้าประเภทเกษตรและผลไม้ และอนุมัติให้เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนเมืองชินโจว เป็นด่านท่าเรือนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปของจีน ทำให้เป็นโอกาสที่จะขยายการขนส่งทั้งผลไม้และรถยนต์ระหว่างกันในอนาคต

ด้านนางหลี่เหล่ยเหยียน รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครชินโจว กล่าวว่า ท่าเรือชินโจวเป็นประตูทางออกทะเลด้านตะวันตกของจีน มีท่าเทียบเรือ 90 ท่า รองรับปริมาณสินค้าผ่านท่าได้ 114 ล้านตัน ซึ่งในปี ปัจจุบันมีการเดินเรือขนส่งสินค้ามายังท่าเรือแหลมฉบังสัปดาห์ละ 3 เที่ยว แต่หลังจากนี้จะร่วมมือกันพัฒนาเพื่อเปิดเดินเรือให้ได้ทุกวัน ซึ่งปริมาณสินค้าระหว่างไทยและจีนมีการเติบโตมาก โดยปี 2561 รอบ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) เติบโต 38.14%

โดยความร่วมมือนี้นอกจากเพื่อส่งเสริมการค้าที่มีการขยายตัวและการให้บริการระหว่างกันภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road พร้อมการขยายโอกาสทางธุรกิจและการขนส่ง อีกทั้งส่งเสริมเส้นทางการขนส่งทางน้ำเชื่อมต่อไทย-จีน และขยายต่อไปยังภูมิภาคและทวีปอื่นๆ ในอนาคต รวมถึงการร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวคิดและมุมมองใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมท่าเรืออีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น