บีทีเอสยันร่วมทุนแค่ “ซิโน-ไทย และราชบุรีโฮลดิ้ง” ในนาม BSR ยื่นประมูลรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน พันธมิตรเพิ่ม เปิดเจรจาหลังได้สัญญา ชี้เวลาทำข้อเสนอสั้น ยังไม่เคาะจะยื่นซอง 4 (ข้อเสนออื่นๆ) ด้วยหรือไม่ ยันไม่มีผลต่อการพิจารณา โดยพร้อมลงทุนต่อขยายไประยอง ซึ่งเจรจาภายหลัง
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหารและกรรมการ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า บริษัท และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ซึ่งเป็นพันธมิตรกิจการร่วมค้า BSR จะเป็น 3 บริษัทหลักในการยื่นประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงินกว่า 2.24 แสนล้านบาท โดยบีทีเอสจะลงทุนตามสัดส่วน ซึ่งจะถือหุ้นไม่น้อยกว่า 60% หรือคิดเป็นเงินลงทุนของบีทีเอสไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยแหล่งเงินสามารถดำเนินการได้หลายวิธี ขอให้ได้สัญญามาก่อน
ทั้งนี้ ในส่วนของระยะเวลาในการศึกษาและจัดทำข้อเสนอค่อนข้างน้อย ทำให้ยังพิจารณาว่าจะยื่นข้อเสนอในซองที่ 4 (ข้อเสนออื่นๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ) ด้วยหรือไม่ แต่ยืนยันว่าพร้อมที่จะยื่นซองในวันที่ 12 พ.ย.นี้แน่นอน โดยข้อเสนอหลักที่รัฐจะพิจารณามี 3 ซอง คือ 1. คุณสมบัติทั่วไป 2. ข้อเสนอด้านเทคนิค 3. ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ส่วนซองที่ 4 มีหรือไม่ก็ได้ ไม่มีผลต่อการพิจารณา
“ยอมรับว่าซองที่ 4 นั้นเป็นข้อเสนอเพิ่มเติม ที่จะช่วยในการบริหารโครงการให้มีผลคุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งในเงื่อนไขมีช่องทางในการเจรจาหากได้รับคัดเลือกแล้วสามารถเพิ่มภายหลังได้ ส่วนกรณีการต่อขยายเส้นทางจากอู่ตะเภาไปถึงระยองนั้น ในทีโออาร์ไม่ได้ระบุไว้ และยังไม่ชัดเจนว่าจะให้ผู้ชนะเป็นผู้ดำเนินการต่อเนื่อง หรือ ร.ฟ.ท.จะเปิดประมูลใหม่ และหากเราเสนอไว้ในซอง 4 จะเท่ากับไม่ต้องประมูลส่วนต่อขยายนี้หรือไม่”
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีพันธมิตรในกลุ่ม BSR ถือหุ้นหลักในการยื่นประมูล หากชนะได้โครงการ ส่วนของการดำเนินการสามารถเพิ่มพันธมิตรได้ ซึ่งปัจจุบันมีซัปพลายเออร์ ระบบ และตัวรถไฟฟ้าหลายบริษัทที่ยื่นข้อเสนอมาให้เราพิจารณา
นอกจากนี้ ในนามกิจการร่วมค้า BSR ยังให้ความสนใจลงทุนระบบ O&M ของมอเตอร์เวย์ รวมถึงทุกโครงการที่มีรูปแบบคล้ายๆ กัน
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ในปี 2561 ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสเติบโตกว่า 1% เมื่อเทียบจากปี 2560 โดยมีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 7 แสนกว่าคนต่อวัน หากไม่รวมเสาร์-อาทิตย์ โดยเฉพาะวันศุกร์ผู้โดยสารถึง 8 แสนคนแล้ว ซึ่งปัญหาที่ผู้โดยสารเติบโตได้ไม่มาก เพราะขบวนรถไม่พอกับปริมาณผู้โดยสาร ซึ่งรถที่สั่งซื้อใหม่กำลังทยอยเข้ามา รวมถึงการเร่งแก้ปัญหาคอขวดที่สถานีตากสินไปวงเวียนใหญ่ ซึ่งจะขยายเป็นทางคู่ การปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานตากสิน (S6) จะทำให้สามารถเพิ่มความถี่ในการเดินรถต่อไป ซึ่งได้ยื่นแบบแล้ว อยู่ระหว่างการทำ EIA จะมีการประชาพิจารณ์ในวันที่ 13 พ.ย.นี้ หากเรียบร้อยจะส่งรายงานด้าน EIA เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ต่อไป เมื่อ EIA ผ่านพร้อมลงมือก่อสร้างทันที
อย่างไรก็ตาม ปลายปี 2561 นี้ นอกจากมีขบวนรถมาให้บริการเพิ่มแล้ว ยังมีการเปิดเดินรถในส่วนต่อขยายไปสำโรง-สมุทรปราการ คาดว่าจะทำให้จำนวนผู้โดยสารเติบโตเพิ่มขึ้น