xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยเล่นออนไลน์สูงสุดของโลก “บล็อกเกอร์” ทรงอิทธิพลชี้ขาดสินค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน 360 - คนไทยรั้งบัลลังก์ใช้อินเทอร์เน็ตอันดับ 1 ของโลก หรือมากกว่าวันละ 9 ชั่วโมง ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 82% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ปัจจัยบวกดัน “บล็อกเกอร์” ทะลักเท่าจำนวนประชากรทั้งประเทศ เหตุทำง่ายใครก็เป็นได้ กูรูแนะ วินาทีนี้บล็อกเกอร์อยู่ยาวได้ต้องมีจรรยาบรรณ

นายวโรรส โรจนะ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า ผลสำรวจจาก We Are Social และ Hootsuite พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตวันละมากกว่า 9 ชั่วโมง หรือใช้เวลาต่อวันแบบรวมทุกอุปกรณ์ที่อยู่กับอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก และปัจจุบันพบว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง 82% ของจำนวนประชากร มีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือสูงถึง 93.61 ล้านเลขหมาย มากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศ

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงความจำเป็นสำหรับสังคมไทยที่จะต้องมีคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ และการสนับสนุนให้มีจริยธรรมมากขึ้นในโลกออนไลน์ เพราะอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันจำนวนบล็อกเกอร์ในไทยเท่ากับจำนวนประชากรไทย เนื่องจากแทบทุกคนมีเฟซบุ๊ก ทุกคนสามารถบ่นหรือร้องเรียนปัญหาหรือบริการบางอย่างผ่านช่องทางโซเชียลหรือออนไลน์ของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องเป็นบล็อกแล้วอาจมีคนเห็นเป็นหลักล้านคน ดังนั้นการกระตุ้นให้ตระหนักถึงการสร้างเนื้อหาที่รับผิดชอบต่อสังคมจึงต้องทำกับทุกคน

อีกแนวโน้มหนึ่งที่เห็นชัดเจนขึ้นคือ บล็อกเกอร์เริ่มกลายเป็นอาชีพมากขึ้น มีรายได้เข้ามาเลี้ยงตัว ทั้งจากการเขียนบล็อก การทำสปอนเซอร์รีวิว เป็นต้น โดยต้องมองว่าบล็อกเกอร์เป็นสื่อหรือรายการหนึ่ง ดังนั้นรูปแบบการหารายได้ก็ไม่แตกต่างจากการหารายได้ของสื่อแบบเดิม แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือ บล็อกเกอร์สามารถเอาตัวตนเข้าไปผูกกับตัวสินค้าหรือบริการได้ จึงมีตัวตนเพิ่มมากกว่าสื่อทั่วๆ ไป

“สิ่งที่อยากเห็นจากบล็อกเกอร์ยุคใหม่ คือ ต้องนำเสนอคอนเทนต์ที่มีสารประโยชน์ต่อสังคมและผู้อ่าน อยู่บนพื้นฐานที่เป็นข้อเท็จจริง เพราะพฤติกรรมคนไทยมีแนวโน้มเชื่อข่าวสารที่นำเสนอบนโลกออนไลน์ ดังนั้นหากขาดคุณสมบัติข้อนี้ก็อาจสร้างความเสียหายถ้าเกิดความเข้าใจผิดในสังคม ซึ่งการนำเสนอคอนเทนต์ต้องเป็นไปในรูปแบบที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้อ่าน เพราะการนำเสนอสื่อก็เปรียบเสมือนกับการตลาดอย่างหนึ่ง ต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ ที่สำคัญต้องนำเสนอในเชิงสร้างสรรค์ ไม่สร้างความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะข้อแรกและข้อสุดท้ายนั้น สื่อที่เป็นมีเดียแบบดั้งเดิมก็ควรให้ความสำคัญเช่นกัน”





รศ.ดร.จินตวีร์ เกษมศุข คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) กล่าวว่า ทุกวันนี้โลกการสื่อสารรุดหน้าเร็วมาก ทุกคนเข้าถึงคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ได้ผ่านอุปกรณ์สื่อสารในมือ คนเป็นบล็อกเกอร์ คนที่ทำงานบนโลกดิจิทัลต้องมีจรรยาบรรณ มีความรับผิดชอบ ต้องรู้จักใช้เครื่องมือทางดิจิทัลให้เหมาะสมถูกต้อง เพราะยุคนี้สามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้แสดงตัวตนได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นจึงต้องรู้จักความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย



อย่างไรก็ตาม บล็อกเกอร์ที่ดีควรมีคุณสมบัติ 5+1 ได้แก่ ต้องสามารถสร้างคอนเทนต์ที่ตัวเองสนใจและเป็นสาระความรู้, สื่อเรื่องราวออกมาได้อย่างน่าสนใจและสร้างความบันเทิงใจ ใส่ใจต่อสังคม สร้างเนื้อหาและนำเสนอที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะคนเข้าถึงคอนเทนต์ได้ทุกเพศทุกวัย ต้องท้าทายการมีส่วนร่วมเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคมไปด้วยกัน รวมทั้งข้อสำคัญที่สุดคือ ความมีจริยธรรม ขณะเดียวกัน องค์ประกอบ 3 ข้อที่บล็อกเกอร์ที่ดีควรมี คือ ต้องเป็นคนที่รู้ลึก รู้จริงในเรื่องนั้นๆ ต้องมีทักษะในการเล่าเรื่องเก่งและสอดคล้องกับแต่ละช่องทางการเล่าเรื่อง เช่น บนเฟซบุ๊กจะเล่าอย่างไร บนทวิตเตอร์จะเล่าอย่างไร เป็นต้น และสุดท้ายคือ ต้องนำเสนอตัวตนและมีความจริงใจ เพราะผู้อ่านไม่ได้อ่านเฉพาะเนื้อหาที่นำเสนอ แต่เป็นการอ่านผ่านมุมมองและสายตาของบล็อกเกอร์ด้วย


ล่าสุดปี 2561 นี้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย (TWA) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ร่วมกันจัดงานประกาศรางวัล “Thailand Best Blog Awards 2018 by CP ALL” (TBBA) ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘บล็อกกาภิวัตน์ NOW or NEVER’ เพื่อเฟ้นหาสุดยอดบล็อกเกอร์ซึ่งโดดเด่นทั้งการสร้างคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ จรรโลงสังคม และสร้างสรรค์ได้อย่างสนุก


โดยบล็อกเกอร์ที่สนใจสมัครส่งผลงานเข้าประกวดตั้งแต่วันที่ 1-25 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ผ่านทางเว็บไซต์ https://tbba.in.th หรือเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/blogger.cpall/ โดยงานประกาศรางวัล Thailand Best Blog Awards 2018 by CP ALL บล็อกกาภิวัตน์ NOW or NEVER’ จะจัดขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้


**บล็อกเกอร์หมดยุค review สู่ real
แม้ปัจจุบันโลกออนไลน์จะเปิดกว้างสำหรับอาชีพบล็อกเกอร์ แต่จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการเจาะลึกในสินค้านั้นมากยิ่งขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บล็อกเกอรต้องมีการพัฒนารูปแบบการนำเสนอ หลังจากพบปีนี้ตลาดคอนเทนต์มาร์เกตติ้ง หรืออินฟลูเอนเซอร์พบว่าเทรนด์การใช้ Micro Influencer มาแรงเพราะผู้บริโภคเลือกการเสพสื่อมากขึ้นเพื่อค้นหาความจริง ดังนั้นรูปแบบการรีวิวจึงต้องปรับเป็น real หรือการนำเสนอความจริงตามความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้


นายอนุพงศ์ จันทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัลเทอเนท 65 จำกัด ผู้บริหารเรวู แพลตฟอร์ม ภายในกลุ่มบริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดคอนเทนต์มาร์เกตติ้ง หรืออินฟลูเอนเซอร์พบว่าปี 2560 เน้นสร้างคอนเทนต์ให้กับแบรนด์ โดยการใช้ Power Influencer หรือ Blogger ทำให้บล็อกเกอร์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ปีนี้เทรนด์การใช้ Micro Influencer มาแรงเพราะผู้บริโภคเลือกการเสพสื่อมากขึ้นเพื่อค้นหาความจริง ไม่เชื่อถือในตัวอินฟลูเอนเซอร์แล้วเพราะรู้ว่าเป็นการทำโฆษณาขายของ


“ปัจจุบันเรวูแพลตฟอร์มให้บริการเกี่ยวกับฟลูเอนเซอร์มาร์เกตติ้ง หรือคอนเทนต์แพลตฟอร์มให้แก่ลูกค้า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมามีลูกค้ากว่า 300 ราย ทำแคมเปญรีวิวผ่านไมโครฟลูเอนเซอร์แล้วกว่า 1,356 แคมเปญ จากไมโครฟลูเอนเซอร์กว่า 8,500 คน ทำให้ปี 2561 นี้บริษัทมีรายได้โตขึ้น 40% หรือมีมูลค่า 30 ล้านบาท ปีหน้าคาดว่าจะเติบโตอย่างน้อย 40% เช่นกัน หรือในปีหน้าคาดว่าจะมีลูกค้าเพิ่มเป็น 500 ราย การทำแคมเปญน่าจะถึง 3,500 แคมเปญ หรือมีไมโครฟลูเอนเซอร์เพิ่มเป็น 20,000 คน// "เรวูแพลตฟอร์ม ถือเป็นโรงเรียนสอนและพัฒนาให้เกิดฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่เข้าสู่ตลาด แน่นอนว่าในอนาคตกลุ่มฟลูเอนเซอร์เหล่านี้จะขยับก้าวขึ้นมาทำอาชีพบล็อกเกอร์ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมามีบล็อกเกอร์ดังหลายรายที่เกิดจากเรวูแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะกลุ่มบิวตี้ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสังคมโซเชียล” นายอนุพงศ์กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น