ร.ฟ.ท.เร่งศึกษาแผนย้ายโรงซ่อมบางซื่อ, โรงงานมักกะสัน และเปลี่ยนรถจักรดีเซลไปเป็นรถไฟฟ้า “วรวุฒิ” เผยสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์เดินรถแทนหัวลำโพง วางยุทธศาสตร์ตลาดใหม่ขีดวงใช้รถไฟฟ้าบริการในรัศมี 300-500 กม.บนโครงข่ายทางคู่ ปลายทาง “โคราช, พิษณุโลก, หัวหิน, สุราษฎร์” คาดสรุปผลศึกษาลงทุนนำร่อง “กรุงเทพฯ-โคราช”
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างการศึกษาแผนการย้ายโรงซ่อมหัวรถจักรดีเซลบางซื่อ และโรงงานมักกะสัน และการปรับเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันดีเซลเป็นไฟฟ้า โดยจากหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าไปใช้รถจักรไฟฟ้า (Electric Locomotive) และจากรถดีเซลราง (DMU) ไปเป็นรถชุดไฟฟ้า EMU (Electricfied Multiple Unit) ซึ่งทั้งเรื่องการเดินรถและแผนการปรับเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าคาดว่าจะสรุปนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ในเร็วๆ นี้
ขณะนี้ฝ่ายช่างกลกำลังจัดทำแผนการย้ายโรงซ่อมบางซื่อและโรงงานมักกะสัน ซึ่งล่าสุดได้ชี้แจงให้เข้าใจถึงแนวทางการพัฒนารถไฟไทยในอนาคตว่าจะไปในทิศทางใด ดังนั้นการกำหนดจุดของโรงซ่อมบำรุงจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้วย โดยเรื่องการเดินรถในอนาคตนั้นจะมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางแทนหัวลำโพง ทั้งรถสายสั้น รถทางไกล รถไฟฟ้าในเมือง รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และเมื่อการก่อสร้างรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ ตลาดผู้โดยสารรถไฟจะอยู่ตามแนวเส้นทาง โดยมีจุดยุทธศาสตร์สำคัญแรกรัศมี 100-200 กม. เช่น นครปฐม, ราชบุรี, ฉะเชิงเทรา ตลาดใหม่รัศมี 300-500 กม. เช่น นครราชสีมา, พิษณุโลก ส่วนด้านใต้ ตั้งแต่หัวหิน, ชุมพร หรืออาจถึงสุราษฎร์ธานี ส่วนเส้นทางระยะไกลเกินกว่า 500 กม.จะไม่ใช่ตลาดหลักของรถไฟอีกต่อไป เพราะจะมีแค่นักท่องเที่ยวและคนสูงอายุ ขณะเดียวกันก็มีสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) เป็นคู่แข่ง
“รถไฟทางคู่แล้วเสร็จจะทำให้การเดินทางในระยะ 300-500 กม. เช่น โคราช, หัวหิน, พิษณุโลก เร็วขึ้นจากเดิม 4-5 ชม. เหลือไม่ถึง 3 ชม. ซึ่งจะเป็นจุดขายของรถไฟที่มีความสะดวกมากขึ้นเมื่อมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนและรถสาธารณะอื่นๆ” นายวรวุฒิกล่าว
สำหรับแผนการย้ายโรงงาน โรงซ่อมไปที่จุดใดจะต้องมองที่ตลาดการเดินรถไฟในอนาคต ซึ่งทั้งแก่งคอย, ศิลาอาสน์, ทุ่งสง เป็นจุดโรงซ่อมเดิมที่เกาะอยู่ในแนวยุทธศาสตร์การเดินรถในอนาคต สามารถพัฒนาได้ เป็นโรงซ่อมรองรับรถดีเซลและรถไฟฟ้าใหม่ ขณะที่รถจักรดีเซล หรือรถดีเซลรางยังมีความเหมาะสมในการให้บริการเดินรถในเส้นทางรอบนอก และเส้นทางที่มีผู้โดยสารไม่มาก ส่วนบริเวณเชียงรากอาจจะเหมาะสมสำหรับรองรับการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ซึ่งอนาคตรถไฟสายสีแดงอาจจะวิ่งไปถึงอยุธยา
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รถไฟได้ศึกษาการเดินรถไฟฟ้าเส้นทางนำร่องในเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช โดยจะมีการลงทุนติดตั้งระบบจ่ายไฟฟ้าบนเส้นทางรถไฟทางคู่ ซึ่งในการประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนติดตั้งระบบไฟฟ้าว่าจะต้องมีความถี่ในการเดินรถในเส้นทางนั้นไม่ต่ำกว่า 80 ขบวนต่อวัน ซึ่งกรุงเทพฯ-โคราชเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแนวเส้นทางนี้มีทั้งรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง