xs
xsm
sm
md
lg

กทท.ปั้นท่าเรือระนองเชื่อมการค้าเอเชียใต้ ประตูการค้าอันดามันเชื่อม EEC

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจากวิดีโอคลิป ข้อมูลท่าเรือระนอง โดย การท่าเรือแห่งประเทศไทย
กทท.ปั้นท่าเรือระนองดันเป็นฮับเชื่อมโยงเส้นทางการค้ากับเอเชียใต้ เตรียมศึกษาแผนเดินเรือกับ 3 ท่าเรือหลัก “ท่าจิตตะกอง บังกลาเทศ” ท่าเรือเชนไน อินเดีย และท่าเรือโคลัมโบ ศรีลังกา “สมคิด” สั่งวางแลนด์บริดจ์เชื่อมระนอง-ชุมพร กับ EEC ด้วย คาดปี 63 ข้อตกลงชัดเจน ขณะที่เร่งตั้งบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์พัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพในปีนี้

ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) รักษาการแทน ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทท.เตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาแผนการพัฒนาการเดินเรือขนส่งสินค้าจากท่าเรือระนองเชื่อมโยงไปยังประเทศในกลุ่มประเทศบิมสเทค (BIMSTEC) ซึ่งมีสมาชิก 7 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย พม่า เนปาล ภูฎาน และไทย โดยอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดใน 2-3 เดือน คาดว่าจะได้ความชัดเจนในอีก 6 เดือน

เบื้องต้นได้คัดเลือกท่าเรือที่มีความเหมาะสมจำนวน 3 แห่งในการศึกษาเดินเรือเชื่อมกับท่าเรือระนอง ได้แก่ ท่าเรือจิตตะกอง ประเทศบังกลาเทศ, ท่าเรือเชนไน ประเทศอินเดีย และท่าเรือโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา โดยหลังจากศึกษาประเมินความเหมาะสมของท่าเรือที่มีความพร้อมได้แล้วจะมีการเจรจาเพื่อทำความตกลงและทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี หรือภายในปี 2563 จึงจะสามารถเปิดเดินเรือเชื่อมกันได้

สำหรับรูปแบบจะเป็นการเดินเรือเลียบชายฝั่งในการเริ่มต้น เนื่องจากเห็นว่าควรใช้เรือขนาดไม่ใหญ่มากเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและลงทุนไม่สูงเกินไป 

ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงคมนาคมวางแผนเชื่อมการขนส่งทางถนนและรางจากท่าเรือระนองกับท่าเรือชุมพรเพื่อเชื่อมการขนส่งระหว่างฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย และเชื่อมไปที่ท่าเรือแหลมฉบังและพื้นที่ EEC เพื่อเป็นโครงข่ายและเพิ่มมูลค่าทางการค้าของประเทศ

สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพนั้น ขณะนี้ กทท.ได้ดำเนินการปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ขณะที่คาดว่าจะมีการจัดตั้งบริษัทลูก บริหารสินทรัพย์เพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เป็นรูปธรรมในปี 2561

รายงานข่าวแจ้งว่า แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพจะมีการใช้ประโยชน์ที่ดิน  2,353 ไร่ คาดมูลค่าลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย พื้นที่ท่าเรือในเขตรั้วศุลกากร 943 ไร่, พื้นที่นอกเขตรั้วศุลกากรที่การท่าเรือฯ ใช้ประโยชน์ 118 ไร่, พื้นที่หน่วยงานรัฐขอใช้ 218 ไร่, พื้นที่หน่วยงานรัฐเช่า 160 ไร่, พื้นที่เอกชนเช่าเชิงพาณิชย์ 313 ไร่, พื้นที่เอกชนเช่าเพื่อสังคม 203 ไร่, พื้นที่ชุมชนแออัด 198 ไร่, พื้นที่ทางสัญจร 200 ไร่

แบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ โซน A พื้นที่พัฒนาด้านการค้า (Commercial Zone) และพัฒนาเพื่อการอยู่อาศัยในชุมชน (Smart Community) ขนาด 6,800 ตร.ว. (17 ไร่) มูลค่าการลงทุน 6,694 ล้านบาท พื้นที่ A2 พัฒนาศูนย์ลอจิสติกส์ ขนาด 21,600 ตร.ว. (54 ไร่) มูลค่าการลงทุน 3,536 ล้านบาท พื้นที่ A3 พัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน ขนาด 6,000 ตร.ว. (15 ไร่) มูลค่าการลงทุน 3,478 ล้านบาท พื้นที่ A4 พัฒนาเป็นศูนย์การค้าธุรกิจครบวงจร ขนาด 50,728 ตร.ว. (127 ไร่) มูลค่าการลงทุน 10,145 ล้านบาท พื้นที่ A5 (องค์การฟอกหนัง) 21 ไร่ นำมาพัฒนาจุดแรกเป็นอาคาร  
 
โซน B พื้นที่ท่าเรือ ปัจจุบันมีจำนวน 943 ไร่ จะปรับเหลือ 534 ไร่ เป็นสถานีบรรจุสินค้า

โซน C พัฒนาเมืองธุรกิจขนาดใหญ่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศและจุดท่องเที่ยวเชื่อมโยงท่องเที่ยวทางน้ำ ท่าเรือโดยสารหรือท่าเทียบเรือโดยสารขนาดใหญ่ (Cruise) เป็นต้น
ภาพจากวิดีโอคลิป ข้อมูลท่าเรือระนอง โดย การท่าเรือแห่งประเทศไทย
ท่าเรือระนอง(ภาพจาก http://www.rnp.port.co.th)
ภาพจากวิดีโอคลิป ข้อมูลท่าเรือระนอง โดย การท่าเรือแห่งประเทศไทย
ภาพจากวิดีโอคลิป ข้อมูลท่าเรือระนอง โดย การท่าเรือแห่งประเทศไทย
ภาพจากวิดีโอคลิป ข้อมูลท่าเรือระนอง โดย การท่าเรือแห่งประเทศไทย
ภาพจากวิดีโอคลิป ข้อมูลท่าเรือระนอง โดย การท่าเรือแห่งประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น