xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” เตรียมบินญี่ปุ่นเจรจาร่วมลงทุนไฮสปีด “กทม.-เชียงใหม่” และปรับลดค่าก่อสร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“อาคม” เตรียมบิน “ญี่ปุ่น” เจรจาร่วมทุนรถไฟความเร็วสูง “กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่” สนข.เผยให้ญี่ปุ่นทบทวนหลังมีการแก้กฎหมายเปิดทางร่วมทุนนอกประเทศ แย้มอาจเปิดให้ร่วมทุนงานเดินรถหรือพัฒนาที่ดินได้ และขอให้ปรับลดค่าก่อสร้างเพื่อลดต้นทุนโครงการ ใกล้สรุปแผนแม่บท M-Map 2 วางแนวรถไฟฟ้าเพิ่ม 5 สาย 131 กม.เชื่อมพื้นที่วงแหวนชั้นนอก กทม.

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะทำงานด้านเทคนิคโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ครั้งที่ 14 ระหว่างฝ่ายไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งมี Mr. Shohei Ishii รองอธิบดีอาวุโสกรมรถไฟ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) ผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย โดยได้ติดตามความคืบหน้าในประเด็นการร่วมลงทุน ซึ่งก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นระบุว่าไม่สามารถร่วมลงทุนในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ได้ ขณะที่ไทยยังยืนยันต้องการให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในรูปแบบอื่นๆ เช่น ในส่วนของโครงสร้างงานโยธา, ระบบอาณัติสัญญาณและการเดินรถ หรือการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางและสถานี ซึ่งที่ประชุมร่วมมอบหมายให้คณะทำงานฝ่ายญี่ปุ่นกลับไปพิจารณา รวมถึงหาแนวทางในการลดต้นทุนการก่อสร้างโครงการลงอีกด้วย

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นระบุว่าพร้อมให้พิจารณาเงินกู้ดอกเบี้ยพิเศษให้ไทยในการดำเนินโครงการดังกล่าว ขณะที่แจ้งว่าไม่เคยร่วมทุนกับประเทศใดในแบบจีทูจีมาก่อนเพราะติดขัดในข้อกฎหมายของญี่ปุ่น แต่เมื่อเร็วๆ นี้ทราบว่าทางญี่ปุ่นได้มีการปรับแก้กฎหมาย และมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อให้นักลงทุนสามารถลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น ดังนั้น จึงขอให้ญี่ปุ่นนำประเด็นเหล่านี้ไปพิจารณาช่องทางในการร่วมลงทุนในโครงการในรูปแบบอื่นๆ เช่น ร่วมในเรื่องเดินรถ หรือร่วมในส่วนของการพัฒนาที่ดิน เป็นต้น

อนึ่ง ในวันที่ 18-20 ต.ค.นี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการหารือกับ รมต.คมนาคมของญี่ปุ่นในประเด็นต่างๆ คาดว่าภายในเดือน ธ.ค.นี้จะมีความชัดเจนในระดับนโยบาย

“ปัจจุบันรัฐบาลมีโครงการขนาดใหญ่จำนวนมากที่ต้องเร่งลงทุน ทั้งรถไฟทางคู่รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง จึงอยากใช้รูปแบบการร่วมทุนเพื่อลดภาระของภาครัฐลง รถไฟความเร็วสูงเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนสูงผลการศึกษาด้านการเงินไม่คุ้มค่า ดังนั้นรัฐบาลไทยควรลงทุนเองเช่นเดียวกับรัฐบาลญี่ปุ่นที่ลงทุนเอง แต่เมื่อญี่ปุ่นมีการปรับแก้กฎหมายบางเรื่อง ก็อยากให้ดูว่ามีช่องทางร่วมทุนกับไทยได้หรือไม่”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การศึกษาความเป็นไปได้เสร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนการเจรจารายละเอียด วิธีการร่วมทุน ระเบียบข้อกฎหมายต่างๆ ซึ่งหากจะเดินหน้าต่อ รัฐบาลจะต้องมีการมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อให้ทำการศึกษารายละเอียดเพื่อนำไปสู่การดำเนินโครงการต่อไป เชื่อว่าใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

สำหรับผลการศึกษารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. เฟสแรกช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. มีมูลค่าลงทุน 276,225 ล้านบาท ขณะนี้เป็นการออกแบบรายละเอียด มีเป้าหมายเริ่มก่อสร้างในปี 2563 ส่วนระยะที่ 2 คือ ช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ ซึ่งมีแนวคิดที่จะตั้งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ขึ้นมาลงทุนร่วมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ตั้งแต่เริ่มต้นการก่อสร้างแต่การเจรจายังไม่ได้ข้อสรุป

*** M-Map 2 วางแนวรถไฟฟ้าเพิ่ม 5 สาย 131 กม.เชื่อมพื้นที่ชั้นนอก กทม.

ส่วนแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP 2) ซึ่งองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) เป็นผู้ศึกษานั้น ได้รายงานความคืบหน้า ซึ่งมีรถไฟฟ้า 5 เส้นทางใหม่ ระยะทางรวม 131 กม. ทำให้ครอบคลุมพื้นที่ชั้นนอก กทม.เพิ่มเติมเป็นแนวรถไฟฟ้าวงแหวนรอบนอกเพื่อรองรับผู้โดยสารรอบนอกมากขึ้น โดยจะมีการพัฒนาสถานีเชื่อมขนาดใหญ่ หรือ Terminal Station และมีจุดจอดแล้วจร (Park & Ride) ในพื้นที่รอบนอกอีกด้วย

คาดการณ์ว่าเมื่อก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สายใน M-MAP 1 เสร็จจะทำให้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพิ่มจากปัจจุบัน 4% ของการเดินทางทุกโหมด เป็น 10% และก่อสร้างเส้นทางใน M- Map 2 เสร็จจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 15% อย่างไรก็ตาม รัฐต้องหามาตรการที่เชิญชวนให้คนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงทบทวนระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมดใหม่เพื่อปรับให้ฟีดเดอร์เชื่อมกับระบบราง


กำลังโหลดความคิดเห็น