xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เจรจา BTS ลดค่าตั๋วสีเขียวไม่เกิน 65 บาท ชง PPP ต.ค.นี้รวมสัญญาเดียว-เล็งรับต่อบางปู, ลำลูกกาเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กทม.เจรจา BTS ปรับโครงสร้างค่าโดยสารสีเขียวต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จาก 40 บาทเหลือ 21 บาท เพื่อตรึงตลอดสายไม่เกิน 65 บาท เร่งชง กก. PPP เคาะเปิดประมูล/เจรจาตรงเพื่อรวมแพกเกจสีเขียวเป็นสัมปทานเดียวกันทั้งหมด ขณะที่ยันรับโอนหนี้ 5.1 หมื่นล้านจาก รฟม.ต้องจบใน พ.ย. ก่อนเปิดเดินรถ 5 ธ.ค. เล็งดึงต่อบางปู, ลำลูกกาก่อสร้างเอง

นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการทดสอบระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 กม. จำนวน 9 สถานี และจะมีการทดสอบการเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง (Trail running) ในช่วงเดือน ธ.ค. 2561 ซึ่งเบื้องต้นกำหนดไว้ในวันที่ 5 ธ.ค. โดยเปิดให้บริการฟรีไปก่อนจนกว่าจะมีการปรับปรุงซอฟต์แวร์ของระบบตั๋วโดยสารแล้วเสร็จ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

เนื่องจากระบบตั๋วจะเกี่ยวกับนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสาย รวมกับส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ ไม่เกิน 65 บาท ภายใต้ Single Operation ค่าธรรมเนียมแรกเข้าไม่ซ้ำซ้อน โดยจะต้องพิจารณารูปแบบที่เหมาะสม และการอุดหนุนของรัฐโดย กทม. (Subsidy) ซึ่งจะต้องเจรจาต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวมี 2 รูปแบบ คือ 1. บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระยะทาง 23 กม. ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช (สายสุขุมวิท) อัตราโดยสาร 16-44 บาท/เที่ยว และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน (สายสีลม) เก็บอัตราโดยสาร 16-40 บาท/เที่ยว

2. กรุงเทพธนาคมได้ว่าจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายสะพานตากสิน-บางหว้า อัตราค่าโดยสาร 31 บาท และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง อัตราค่าโดยสาร 15 บาท โดยตามการศึกษา ส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เก็บตามระยะทางค่าโดยสาร 40 บาท และต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีระยะทาง 18.7 กม. หากเก็บตามระยะทางประมาณ 45 บาท/เที่ยว โดยรวมแล้วจะจ่ายค่าโดยสารรวมสูงสุด 144 บาท/เที่ยว

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาท จะปรับโครงสร้างค่าโดยสารช่วงอ่อนนุช-สมุทรปราการ ที่กำลังจะเปิดให้บริการเป็น 21 บาท ซึ่ง กทม.จะต้องอุดหนุนส่วนนี้

ขณะนี้ผู้ว่าฯ กทม.ได้เสนอเรื่องการร่วมทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กม. และแบริ่ง-สมุทรปราการ 13 กม. ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2556 (PPP) ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว คาดว่าจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการ PPP ได้ในเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นจะตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 เพื่อพิจารณารูปแบบและแนวทางการเปิดประมูลใหม่หรือเจรจาตรง BTSC ก่อนรวมสัญญาสีเขียวเป็นสัมปทานเดียวตลอดสาย ซึ่งอาจจะใช้เวลาอีก4-6 เดือน

ในขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯ กทม.ได้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ พ.ศ. … ซึ่งผ่านสภา กทม.แล้ว ต่อ รมว.มหาดไทย ซึ่งคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เร็วๆ นี้ จากนั้นจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป คาดว่าในเดือน พ.ย.นี้จะเรียบร้อยและสามารถลงนามรับโอนหนี้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ก่อนเปิดเดินรถในเดือน ธ.ค. 61

โดยเงินกู้ในร่างข้อบัญญัติหมายถึงเงินกู้ที่กรุงเทพมหานครกู้ยืมเงินจากกระทรวงการคลังเป็นค่างานก่อสร้างงานโยธาวงเงินรวม 44,429 ล้านบาท และการชดใช้ค่าจัดกรรมสิทธิ์ ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมเงินกู้ของค่างานโครงสร้างพื้นฐานที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชำระไปแล้ว ในวงเงิน 7,356.37 ล้านบาท

***เล็งดึงต่อบางปู, ลำลูกกา ก่อสร้างเอง
สำหรับสายสีเขียวใต้ส่วนต่อขยายจากสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 9.2 กม. กรอบวงเงิน 7,994 ล้านบาท และสายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 6.5 กม. กรอบวงเงิน 6,337 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองโครงการออกแบบและได้รับอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว จึงเป็นเส้นทางที่มีความพร้อมที่จะดำเนินการก่อสร้าง ทาง กทม.จะพิจารณาปริมาณผู้โดยสารหลังเปิดส่วนต่อขยายแรกก่อนสักระยะจึงจะวางแผนที่จะต่อขยายในช่วงใด ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกจะขอรับมาดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่งานโยธา


กำลังโหลดความคิดเห็น