xs
xsm
sm
md
lg

บวท.แจง เรดาร์ตรวจอากาศ ของกรมอุตุฯมีประสิทธิภาพ แจ้งสภาพอากาศนักบินตามกฎการบิน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บวท. ชี้แจงกรณีถูกพาดพิง เหตุ การบินไทยไถลหลุดรันเวย์. ยันเรดาร์ตรวจอากาศ ตรวจจับเมฆฝนเป็นของกรมอุตุฯ ซึ่งติดตั้งอยู่ทั่วปท. บวท. ไม่มีภารกิจจัดซื้อ ขณะที่ช่วงดังกล่าว อากาศแปรปรวน มีการส่งข้อมูลแจ้งนักบินถี่ ตามกฎการบิน เพื่อให้นักบินใช้ตัดสินใจสุดท้าย

นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ระบุว่า เหตุเครื่องบินโดยสารของสายการบินไทย ไถลออกนอกรันเวย์ที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพราะบวท. ไม่มีเรดาร์ตรวจอากาศที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการจราจรทางอากาศ นั้น ในประเด็นเหตุลื่นไถล อยู่ในกระบวนการการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม บวท. ในฐานะผู้ให้บริการจราจรทางอากาศ แก่เที่ยวบินดังกล่าว ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนและเป็นไปตามมาตรฐานที่ ICAO กำหนด

ส่วนประเด็นเรดาร์ตรวจอากาศในการควบคุมจราจรทางอากาศนั้น ปัจจุบัน บวท. ใช้ข้อมูลสภาพอากาศ จากเรดาร์ตรวจจับกลุ่มเมฆฝน (Weather Radar) ในการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศของ
กรมอุตุนิยมวิทยา (มีมากกว่า 20 สถานี ติดตั้งอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ) โดย บวท. จะแจ้งข้อมูลสภาพอากาศแก่นักบินเพื่อประกอบการตัดสินใจในการทำการบิน ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศจะใช้ข้อมูลดังกล่าว ในการวางแผนบริหารจัดการจราจรทางอากาศ ในภาพรวม ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศทั้งหมดในปัจจุบันที่ได้รับ เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

นอกจากนี้ ระบบของ บวท. ยังมีข้อมูลจากการประมวลผลของระบบเรดาร์ปฐมภูมิ (Primary Surveillance Radar : PSR) ในลักษณะรูปภาพกราฟฟิก แสดงค่าความหนาแน่น ความเข้ม และระดับความรุนแรงของกลุ่มเมฆด้วยโทนสีต่างๆ โดยมีรัศมีทำการ 120 และ 240 กิโลเมตร จากสถานีเรดาร์ แสดงทิศทางการเคลื่อนที่ของกลุ่มเมฆแบบภาพต่อเนื่อง (Loop) แสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน (Update rate) ทุกๆ 10-15 นาที

โดยในช่วงวันดังกล่าว กรมอุตุฯได้ส่งข้อมูลการประมวลผลจากเรดาร์ตรวจอากาศ ช่วงเวลา 22.30น. ,22.41 น.,22.50 น. ซึ่งเป็นมาตรฐานเนื่องจากสภาพอากาศขณะนั้นแปรปรวน โดยบวท. ได้ประมวลผลทั้งหมดแจ้งต่อนักบินทันที ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวปริมาณเที่ยวบินที่สุวรรณภูมิ มีในระดับปานกลาง และมีทัศนวิสัย การมองเห็นที่ประมาณ1,500 เมตร ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่จะกระทบการขึ้น-ลงหากทัศนวิสัยการมองเห็นไม่ถึง 300 เมตร ดังนั้น การประมวลข้อมูลทุกอย่างเป็นไปตามกฎการบิน และมาตรฐาน ICAO ซึ่งนักบินจะใช้ข้อมูลที่ได้รับทั้งหมด ประกอบการตัดสินใจขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบิน

สำหรับประเด็นของการจัดซื้อเรดาร์ตรวจอากาศนั้น มิได้เป็นภารกิจของ บวท. เนื่องจากตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังกำหนดไว้ว่า ภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยาคือ การบริหารจัดการด้านอุตุนิยมวิทยา โดยปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจเฝ้าระวังติดตาม รายงานสภาวะอากาศ อากาศเพื่อการบิน และปรากฏการณ์ธรรมชาติ ด้วยระบบและเทคนิคที่ทันสมัย ไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นการจัดหาเรดาร์ตรวจอากาศ จึงเป็นหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยาตามระเบียบกฎกระทรวงดังกล่าว

นอกจากนี้ ตามระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการจัดทำ ข้อตกลงการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบินกับหน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในการให้บริการจราจรทางอากาศ พ.ศ. 2559 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ให้หน่วยงานให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบิน มีหน้าที่รับผิดชอบในการให้บริการด้านอุตุนิยมวิทยาการบินของประเทศไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น