xs
xsm
sm
md
lg

ขวบปีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขวบปีของการเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพของ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในสายตาของประชาชน อาจยังไม่ชัดเสียทีเดียว

รู้เพียงว่าเป็นหน่วยงานกลางกำกับนโยบายน้ำของประเทศ และออกข่าวตามสื่อต่างๆ ช่วงน้ำท่วมถี่หน่อย แต่บทบาทของ สทนช.เป็นที่รับรู้และเข้าใจของหน่วยงานด้านน้ำ 38 แห่ง 7 กระทรวงมากขึ้นตามลำดับ จากเดิมที่ไม่เคยมีหน่วยงานกลางเช่นนี้มาก่อน

สทนช.เป็นการออกแบบเชิงโครงสร้างของรัฐบาล คสช. เพื่อรวมศูนย์การกำกับนโยบายด้านน้ำของประเทศ แต่ละหน่วยงานที่มีอยู่เดิมนั้นจัดตั้งขึ้นมาตามภารกิจที่ชัดเจนและในขอบเขตจำกัด เช่น กรมชลประทานทำหน้าที่พัฒนาแหล่งน้ำ ก่อสร้างระบบชลประทาน กรมเจ้าท่า ว่าด้วยการเดินเรือ ท่าเรือ การดูแลร่องน้ำ กรมโยธาธิการและผังเมืองก็เช่นเดียวกันที่มีบทบาทเฉพาะที่กำหนดไว้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่การบริหารจัดการน้ำจะกระท่อนกระแท่น แต่ละหน่วยต่างทำหน้าที่ของตัวเองไปโดยไม่พักต้องไปเชื่อมโยงงานของหน่วยงานอื่น

การแก้ไขปัญหาน้ำ ไม่ว่าน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำไม่มีคุณภาพ ระบบนิเวศน้ำ จึงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะส่วน ของใครของมัน ไม่เกาะเกี่ยวเชื่อมร้อยเป็นสายสร้อยเส้นเดียวกัน ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาจึงได้เฉพาะส่วนเท่านั้น ไม่ได้แก้ที่ภาพใหญ่

จะไปกล่าวโทษก็ไม่ถูกและไม่เป็นธรรม เพราะออกแบบมาอย่างนั้นก็ต้องทำตามแบบอย่างนั้น

ยกตัวอย่างแม่น้ำสายหนึ่ง หน่วยงานอนุรักษ์ป่าไม้ต้นน้ำ เป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พอเก็บกักในเขื่อน เป็นหน้าที่ของกรมชลประทาน ซึ่งรับผิดชอบเส้นทางน้ำ ระยะทางไม่กี่กิโลเมตร ในระหว่างทาง อาจมีฝายหรือประตูระบายน้ำของกรมนั้นกรมนี้ ถ้าผ่านเข้าไปในแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ก็เป็นเรื่องของกรมประมง ถัดจากนั้นเป็นความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่าบ้าง จังหวัดบ้าง จนน้ำลงสู่ทะเลก็เป็นอีกหน่วยหนึ่งจะไม่เห็นการทำงานเชิงบูรณาการในการกำหนดแผนงานโครงการใดๆ เป็นเรื่องต่างคนต่างทำ ด้วยความมุ่งหมายที่ต่างกัน กรมชลประทานอย่างหนึ่ง กรมประมงก็อีกอย่าง กรมเจ้าท่าก็ไปอีกอย่าง ไม่ต้องเกี่ยวข้องร่วมสังฆกรรมกัน เป็นข้อจำกัดเชิงพื้นที่และเชิงกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน พ้นเลยจากนั้นไม่อาจทำได้ เป็นเหตุใหญ่ที่ทำให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศไม่ถึงฝั่งฝัน

ช่องโหว่นี้เองจึงเป็นที่มาของ สทนช.ที่ได้รับการออกแบบเป็นผู้กำกับนโยบายน้ำของประเทศ และทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางเชื่อมร้อย 38 หน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อเป้าหมายใหญ่ในการแก้ปัญหาน้ำแบบบูรณาการครบวงจร

เป็นจังหวะและเวลาที่เหมาะสม ลงตัว ภายใต้รัฐบาล คสช. จึงจัดตั้งหน่วยงาน สทนช.ได้ฉับไวด้วยมาตรา 44 และการมีบุคลากรที่เหมาะสมในการขับเคลื่อน ซึ่งต้องให้เครดิตให้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ และคณะ ที่ผลักดันงานท่ามกลางข้อจำกัด ทั้งกำลังคนและงบประมาณจนเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

สทนช.จึงมีขอบเขตการดูแลปัญหาน้ำในทุกระนาบหลากมิติ ทั้งในพื้นที่ชลประทาน นอกพื้นที่ชลประทาน ทั้งในเมืองและในชนบท ทั้งฝน ทั้งน้ำผิวดิน ทั้งน้ำใต้ดิน ทั้งคุณภาพน้ำ ทั้งขอบข่ายที่ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน ไม่จำกัดวงเป็นเกษตรกรหรือผู้ใช้น้ำประปาในเขตเมือง

จนแทบจะกล่าวได้ว่า “ปัญหาน้ำของประเทศอยู่ที่ไหน สทนช.อยู่ที่นั่น” เป็นแต่อยู่ในระดับนโยบาย และคอยกำกับหน่วยงานปฏิบัติอีกชั้นหนึ่ง

25 ตุลาคม 2561 จะครบ 1 ขวบปีการก่อตั้ง สทนช. ถ้าฟังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา จะเห็นรูปธรรมความสำเร็จจากการจัดตั้ง  สทนช.อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการลดพื้นที่น้ำท่วม น้ำแล้ง การลดงบประมาณช่วยเหลือเยียวยา จำนวนมหาศาล

นอกจากลดปัญหา ลดงบประมาณแล้ว ยังสะท้อนภาพกลับว่าการบริหารจัดการน้ำแบบต่างคนต่างทำในอดีต เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล แถมยังขาดประสิทธิภาพอีกด้วย

ไม่น่าเชื่อว่า 1 ขวบปี สทนช. เป็น 1 ขวบปีของการเปลี่ยนแปลงใหญ่


กำลังโหลดความคิดเห็น