ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดรวมหนังสือ 20,000 ล้านบาทฝ่าวิกฤตโลกดิจิทัลถล่มมากว่า 5 ปี หลังเจอมรสุมออนไลน์เบียดกระทบ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เจ้าของสำนักพิมพ์ชูระบบฟรีแลนซ์ลดต้นทุน เน้นขายออนไลน์ ฟากผู้แต่ง/นักเขียนเปิดเว็บสร้างทางเลือกลดความเสี่ยง ปีนี้มีสัญญาณบวก ตลาดหนังสือจะกลับโตได้ 1-2%
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและโลกดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค เป็นเหตุผลสำคัญในการเปลี่ยนโลกใบนี้จากวิถีชีวิตแบบแอนะล็อกสู่ดิจิทัล ทำให้หลายธุรกิจต้องพังทลายลงเพราะปรับตัวไม่ทัน รวมถึง "หนังสือ" เป็นหนึ่งธุรกิจที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะหายไปอีกราย ซึ่งตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมาตลาดหนังสืออยู่ในขั้นโคม่า ยอดขายและความนิยมหดตัวลงไปถึง 25% จากตัวเลขมูลค่าที่เคยทำได้มากกว่า 25,000 ล้านบาท ตกมาจนเหลืออยู่แค่ 18,000 ล้านบาท แต่วันนี้กลับทะยานขึ้นสู่ตัวเลข 20,000 ล้านบาทอีกครั้ง
นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดรวมหนังสือเชื่อว่าเคยมีมูลค่าสูงสุดไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่จากกระแสของโลกดิจิทัลที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรมการอ่านของผู้บริโภค ทำให้ตลาดหนังสือมีมูลค่าลดลงจนมีมูลค่าต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงวิกฤตของตลาดหนังสือ
แต่ปัจจุบันภาพรวมตลาดหนังสือกลับมามีมูลค่า 20,000 ล้านบาทอีกครั้ง และปี 2561 นี้มีแนวโน้มว่าจะโต 2% จากกระแสละครดัง บุพเพสันนิวาส ที่ส่งผลให้หนังสือที่เกี่ยวเนื่องกันได้รับความสนใจ รวมถึงเรื่องราวของ ทีมหมูป่า เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดหนังสือที่เกี่ยวข้องได้รับความสนใจ และกลุ่มที่เติบโตสูงสุดคือ กลุ่มนิยายวัยรุ่น และหนังสือแปลที่มีรางวัลการันตี ส่วนหนังสือที่มียอดขายลดลง คือ กลุ่มท่องเที่ยว ไอที เพราะสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้ตามเว็บไซต์และโลกออนไลน์ เป็นต้น
*** เจาะลึกกลยุทธ์ต่อลมหายใจหนังสือ
นางสุชาดากล่าวต่อว่า ภาพรวมตลาดหนังสือดูสดใสขึ้น เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหนังสือและที่เกี่ยวเนื่องปรับตัวรับมือ โดยเฉพาะในกลุ่มเจ้าของสำนักพิมพ์จากช่วงแรกมีปิดตัวไปบ้าง แต่ปัจจุบันพบว่าสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ได้ปรับตัวเน้นการบริหารจัดการต้นทุนมากขึ้น เช่น บุคลากร และพนักงาน ปรับเป็นรูปแบบฟรีแลนซ์ หรือยอดพิมพ์หนังสือลดลงและพิมพ์แบบออนดีมานด์แทน หนังสือที่จะจัดพิมพ์ต้องเลือกที่เห็นถึงความคุ้มค่าและกำไรมากขึ้น เน้นช่องทางขายผ่านออนไลน์มากขึ้น ซึ่งมีสัดส่วน 25% แล้ว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คอนเทนต์หรือเนื้อหาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของหนังสือ ทุกกลุ่มต้องปรับตัว เช่น กลุ่มหนังสือท่องเที่ยว ที่ถูกออนไลน์กระทบมากที่สุด มีการปรับคอนเทนต์เปลี่ยนมานำเสนอความเป็นอันซีนที่ยังไม่ถูกค้นพบ หรือท่องเที่ยวท้องถิ่นเข้าถึงวิถีชีวิต ที่กำลังอินเทรนด์อยู่ในขณะนี้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้แต่ง ผู้ประพันธ์นั้น โดยเฉพาะในกลุ่มหนังสือนวนิยาย ปัจจุบันเหล่านักเขียนมีการรวมตัวกันเปิดตัวเว็บไซต์ให้อ่านนิยายฟรี และหากได้รับความนิยมก็ปรับมาเป็นรูปเล่ม จัดพิมพ์จำหน่ายในจำนวนจำกัด หรือแบบออนดีมานด์แทน รวมถึงนำเสนอแบบ e-book มากขึ้น
“ส่วนเรื่องของการปิดตัวของร้านหนังสือในต่างจังหวัดไม่ได้มีผลต่อตลาดหนังสือ เพราะอาจจะเป็นเรื่องของรุ่นลูกหลานไม่ชอบธุรกิจนี้และเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทน เพราะปัจจุบันผลตอบแทนและยอดขายจากหนังสือลดลงนั่นเอง” นางสุชาดากล่าวให้ความเห็น
*** เกิดแน่ มหกรรมหนังสือบนโลกออนไลน์
จากการปรับตัวของเหล่าคนวงการหนังสือ ทางสมาคมฯ ยังจัดงานมหกรรมหนังสือปีละ 2 ครั้ง ล่าสุดปลายปี 2561 นี้จัดงานมหกรรมหนังสือครั้งที่ 2 วันที่ 17-28 ต.ค.นี้ โดยเป็นงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 23 พร้อมกับเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดว่าจะมียอดขายในงาน 400 ล้านบาท มีผู้เข้าชมงานประมาณ 1.8 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่วางไว้ใกล้เคียงกับงานมหกรรมหนังสือครั้งที่ 1
อย่างไรก็ตาม จากกระแสโลกออนไลน์ที่มีผลต่อผู้อ่านมากขึ้นนั้น นางสุชาดากล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันที่นิยมซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ง่าย สะดวก ทางสมาคมฯ มีแผนที่จะจัดงานมหกรรมหนังสือบนโลกออนไลน์ควบคู่กันไปกับงานมหกรรมหนังสือที่จัดขึ้นในปัจจุบัน อยู่ระหว่างการเจรจากับสำนักพิมพ์ต่างๆ หลังจากหนังสือมีการจำหน่ายผ่านร้านค้าออนไลน์ เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ โต 70% จากปีก่อน หรือยอดขายหนังสือปีนี้กว่า 30% มาจากช่องทางออนไลน์ และ 70% มาจากหน้าร้าน คาดว่า 3-5 ปีข้างหน้าสัดส่วนการขายหนังสือผ่านออนไลน์และหน้าร้านจะอยู่ที่ 50% เท่าๆ กัน