xs
xsm
sm
md
lg

ติงหัวจักร 20 คันเสียบ่อย-ซ่อมนาน หวั่นเอื้อเอกชน-จี้ ร.ฟ.ท.เรียกค่าเสียหาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปูดหัวจักร 20 คันชำรุด แถมรออะไหล่ซ่อมนานทั้งที่อยู่ในระยะรับประกัน เจอปัญหากำลังลากจูงต่ำ ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงชำรุด ยื่น “ประธานบอร์ด ร.ฟ.ท.” เร่งตรวจสอบเหตุทำสูญโอกาสหารายได้ แถมส่อเอื้อเอกชนไม่เอาผิด แนะอุดช่องโหว่ TOR ประมูล 50 คัน หวั่นซ้ำรอย ด้าน “วรวุฒิ” ยันภาพรวมรถจักรใช้งานได้ เหตุชำรุดและรออะไหล่นาน ต้องเคลมตามสัญญา

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ได้มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้งานรถจักรดีเซลไฟฟ้า จำนวน 20 คัน ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จัดซื้อและใช้งานมาตั้งแต่ปี 2558 โดยพบปัญหาการชำรุดและการซ่อมบำรุงที่ล่าช้า ทำให้ ร.ฟ.ท.ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้งานรถจักรได้เต็มประสิทธิภาพ โดยเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2561 นายอารัมภ์ รมยานนท์ ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีและเป็นทายาท นายอะนะ รมยานนท์ อดีตผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ได้ทำหนังสือถึง นายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. เพื่อขอให้พิจารณาตรวจสอบความเสียหายในกรณีรถจักรดีเซลไฟฟ้า หมายเลข 5101-5120 จำนวน 20 คัน น้ำหนักกดเพลา 20 ตัน/เพลา ชำรุดในระหว่างอายุรับประกัน 3-5 ปี

โดยระบุว่า ร.ฟ.ท.ได้ลงนามสัญญาซื้อขายกับบริษัท ป่าไม้สันติ จำกัด (ปัจจุบันชื่อบริษัท ซานโฟโก้อินเตอร์เนชันแนล จำกัด) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2556 ซื้อรถจักร 20 คัน มูลค่า 3,300 ล้านบาท ซึ่งผลิต/สร้างโดยบริษัท CRRC QISHUYAN CO.,LTD สาธารณรัฐประชาชนจีน เดิมชื่อ CSR QISHUYAN CO.,LTD ส่งมอบใน 24 เดือน โดย ร.ฟ.ท.ได้ใช้งานตั้งแต่ปี 2558

ขณะที่สัญญากำหนดให้บริษัท ซานโฟโก้ฯ รับประกัน รับรองคุณภาพของรถจักรที่ บริษัท CRRC ผลิต มีระยะประกัน 3 ปี หากรถจักรชำรุดบกพร่องหรือขัดข้องอันเกิดจากการใช้งานปกติ, รับประกัน 5 ปี หากรถจักรชำรุดบกพร่องหรือขัดข้องเนื่องจากการใช้งานปกติในส่วนอุปกรณ์ ได้แก่ BOGIE, BOGIE FRAME , WHEEL AND AXLE SET AND JOURNAL ROLLER BEARING, DIESEL ENGINE BLOCK, AXLE GEAR WHEEL AND TRACTION MOTOR PINION, ENGIN CHANK SHAFT , MICRO PROCESSOR UNIT (MPU)  CONTROL SYSTEM หากชำรุด บริษัท ซานโฟโก้ฯ จะต้องซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนใหม่ ตามกำหนดอย่างเคร่งครัด หากไม่ได้ บริษัทฯ ต้องชำระค่าเสียหายให้ ร.ฟ.ท.

ทั้งนี้ พบว่าหลังจากรับมอบหัวรถจักรมีความชำรุดบกพร่องมาโดยตลอด เช่น ไม่มีกำลังลากจูง ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงชำรุดแทบทุกคัน, เครื่องยนต์ชำรุด TRACTION MOTOR PINION ชำรุด เป็นต้น ซึ่งเกิดจากการใช้งานปกติ และยังอยู่ในระยะรับประกัน 3 ปี 5 ปี ซึ่งปัญหาอาจเกิดจากคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน

อีกทั้งได้พบว่าการปฏิบัติตามสัญญาระหว่าง ร.ฟ.ท.กับบริษัทฯ มีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย ละเลย เพิกเฉย ละเว้น ปกปิดในการแจ้งการชำรุดให้ผู้ขายทราบ มีความล่าช้านับจากพบการชำรุด เข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้ผู้ขาย ละเว้นการเรียกค่าเสียหาย ค่าปรับ เช่น รถจักรดีเซลไฟฟ้า หมายเลข 5105 ฝ่ายช่างกลตรวจพบปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงชำรุดเมื่อ 20 พ.ย. 2560 แจ้งฝ่ายพัสดุ (บริหารสัญญา) 23 เม.ย. 2561 ฝ่ายพัสดุฯ แจ้งผู้ขาย 31 พ.ค. 2561 ในขณะนี้รถจักรยังจอดอยู่ที่โรงซ่อมศรีราชาเพื่อรอซ่อม เป็นเวลากว่า 300 วันรถจักรไม่ได้ใช้งาน นอกจากนี้ยังมีรถจักรหมายเลข 5112 และ 5117 ที่ต้องจอดรอการซ่อมเช่นกัน

ปัญหาคือ รถจักร 20 คันไม่สามารถใช้งานได้ครบจำนวนทุกวัน ใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากชำรุด ทำให้ ร.ฟ.ท.เสียโอกาส ขาดรายได้ทั้งผู้โดยสารและสินค้าจำนวนมาก ซึ่งนอกจากตรวจสอบแล้วควรปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาอย่างเคร่งครัด และควรนำข้อปัญหาจากการใช้งานรถจักร 20 คันนี้เป็นข้อพิจารณาเพื่อกำหนดมาตรการป้องกัน และกำหนด TOR ในการจัดซื้อรถจักร 50 คันอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการใช้งาน   

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้สรุปร่าง TOR โครงการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์การซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา จำนวน 50 คัน วงเงิน 6.5 พันล้านบาท และเตรียมประกาศในเว็บไซต์เพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 นั้นนายอารัมย์ได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียน
 
ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ภาพรวมการใช้งานหัวจักรทั้ง 20 คัน ทางเทคนิคไม่มีปัญหาที่น่ากังวล แต่การใช้งานยังไม่เต็มที่เนื่องจากโครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (SRTO) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ยังไม่เต็มรูปแบบ ซึ่งได้นำหัวรถจักรไปใช้ในเส้นทางตะวันออกเฉียงเหนือบ้าง ส่วนกรณีรถชำรุดรอซ่อมนานเป็นเรื่องการจัดหาอะไหล่ล่าช้า ซึ่งยืนยันต้องปฏิบัติตามสัญญาและมีการเรียกเคลมจากผู้ขายแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น