xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนลุ้น! พีดีพีใหม่เพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าขยะเป็น 800-1,000 เมกะวัตต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอกชนหวังแผนพีดีพีใหม่เปิดทางเพิ่มสัดส่วนการรับผลิตไฟฟ้าจากขยะเพิ่มขึ้นเป็น 800-1,000 เมกะวัตต์ ที่แผนเดิมกำหนดไว้รวมเพียง 550 เมกะวัตต์ เผยปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่พร้อมผลิตแล้วถึง 447 เมกะวัตต์ 55 โครงการ ขณะที่ปริมาณขยะไทยยังมีอีกเพียบ “ส.อ.ท.” แนะลดขั้นตอนการขอนุญาตเหตุเกี่ยวข้องถึง 15 หน่วยงาน


นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายโรงงาน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) กล่าวในงานสัมมนา” ทางเลือก ทางรอด โรงไฟฟ้าขยะ” ว่ากระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี 2018) ปี พ.ศ. 2561-2580 นั้นคาดว่าจะมีการพิจารณาทบทวนสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากขยะซึ่งเห็นว่าหากรัฐพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการผลิตเป็น 800-1,000 เมกะวัตต์ในปลายแผนจากแผนเดิมที่กำหนดไว้ตลอดแผนปี 2579 จะอยู่ที่ 550 เมกะวัตต์นั้นเป็นเรื่องที่เหมาะสมเพราะศักยภาพขยะของไทยปัจจุบันสามารถนับไปผลิตไฟฟ้าได้สูงถึง 2,000 เมกะวัตต์

“เห็นว่าควรต้องมีค่ากำจัดขยะเข้ามาร่วมด้วย โดยมองว่าในแต่ละพื้นที่ควรกำหนดค่ากำจัดไม่ต่ำกว่า 400-800 บาทต่อตัน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อบริหารจัดการตามเป้าหมายของภาคัฐ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าขยะ Quick Win จำนวน 8 พื้นที่ 12 โครงการ กำลังผลิต 77.9 เมกะวัตต์ ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดพื้นที่ไว้ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดระยะเวลาส่งเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ COD ในปี 2562 ขณะนี้หยุดดำเนินการหมดแล้ว เพราะเอกชนไม่สามารถทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดระบบ Gasification ซึ่งมีต้นทุนสูงเกินไปไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยการดำเนินการโรงไฟฟ้าขยะนั้น ภาครัฐไม่ควรกำหนดเทคโนโลยีควรให้เอกชนเป็นผู้ตัดสินใจเองจะดีกว่า” นายวรวิทย์กล่าว

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี อดีตรองผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า แผนดีพีดี กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ รวมอยู่ที่ 550 เมกะวัตต์ในปี2579 แต่ปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าขยะที่มีข้อผูกพันกับรัฐแล้ว 55 โครงการ ราว 447 เมกะวัตต์ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าจากขยะ เพราะยังมีปริมาณขยะอีกราว 23 ล้านตันต่อปี ที่ยังไม่ได้นำไปกำจัด ซึ่งโรงไฟฟ้าขยะนั้น ช่วยแก้ไขปัญหาขยะชุมชนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ต้องไม่มองว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่ต้องซื้อขยะเป็นเชื้อเพลิง ดังนั้น โครงการจะเกิดขึ้นได้ต้องมีค่ากำจัดที่เหมาะสม ไม่กระทบค่าไฟฟ้า

น.ส.เสวิตา ถิ่นสันติสุข กรรมการประสานงานต่างประเทศ กลุ่มพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญของการสร้างโรงไฟฟ้าขยะเกิดจากมีหน่วยรัฐที่เกี่ยวข้องมากถึง 10 หน่วยงาน 15 ใบอนุญาต ส่งผลให้มีขั้นตอนและกฎระบียบมากเกินไป อีกทั้งการใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดปี 2560 ขาดความคล่องตัว ดังนั้น เอกชนต้องการให้ภาครัฐลดขั้นตอนการขออนุญาตจัดการขยะและสร้างโรงไฟฟ้าลง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขยะลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น