xs
xsm
sm
md
lg

มรดกแก้มลิงของแผ่นดิน เร่งกระจายขยายผลแนวพระราชดำริ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แม้บุคคลต้นคิดโครงการอย่าง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เสด็จสู่สวรรคาลัย แต่พระองค์ทรงมอบแนวคิด “แก้มลิง” อันทรงคุณค่า ให้เป็นมรดกแผ่นดินไว้เบื้องหลัง

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นนักสังเกต เพียงเห็นอากัปกริยาลิงกินกล้วย พระองค์ท่านทรงนำไปประยุกต์จนนำไปสู่การออกแบบแก้มลิงในพื้นที่ลุ่มต่ำ รองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน สำหรับเก็บกักน้ำไว้เป็นการชั่วคราวด้วย และหน่วงน้ำบรรเทาน้ำท่วมไปในตัว ท้ายที่สุดยังใช้น้ำในแก้มลิงใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้ด้วย

เป็นแนวพระราชดำริที่ครบวงจรคุณค่าและทวีคุณค่าในภายหลัง เป็นการเสียไปเพื่อได้มาอีกมากมาย

จากแก้มลิงในกรุงเทพฯ เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ ปี 2526 ขยายเป็นแก้มลิงหลายแห่ง เช่น แก้มลิงหนองใหญ่ จ.ชุมพร แก้มลิงทุ่งท่าวุ้ง จ.ลพบุรี แก้มลิงทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก และแก้มลิงทุ่งอยุธยาร่วม 10 แห่ง

โครงการแก้มลิงหนองใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชุมพร เป็นผลสืบเนื่องตามมาจากการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จ.ชุมพร ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเร่งรัดให้ขุดคลองหัววัง-พนังตัก ระยะทาง 1,460 เมตร ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หลังจากพายุโซนร้อนซีต้าถล่มเมืองชุมพร ช่วงเดือนสิงหาคม 2540 จนเสียหายมากมาย

เป็นการเร่งขุดเพราะทรงต้องการให้คลองนี้สามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว ลดผลกระทบต่อตัวเมืองชุมพร

กรมชลประทานขุดคลองหัววัง-พนังตัก ระยะทางกว่า 6 กิโลเมตร เหลือ 1,460 เมตรสุดท้ายที่จะทะลุไปเชื่อมคลองพนังตักออกสู่ทะเล ซึ่งตามแผนเดิมต้องใช้เวลา 2 ปีจึงแล้วเสร็จ

ทรงเร่งให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพราะช้าเพียงก้าวเดียวพายุลินดาก็พร้อมถล่มเมืองชุมพรอีกรอบ การปรับเวลาจาก 730 วันเป็น 30 วันให้แล้วเสร็จเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ

แต่ความเหลือเชื่อก็สำเร็จลงด้วยพระบารมี ทั้งที่มีอุปสรรคหลายประการ แต่ด้วยการร่วมผนึกกำลังทั้งรัฐ ราษฎร และภาคเอกชน ทำให้สามารถขุดทะลวงคลองหัววังทะลุถึงคลองพนังตักได้ ก่อนพายุลินดาเข้าเพียงไม่กี่วัน

คนชุมพรรอดพ้นอุทกภัยแต่นั้นมา และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณไม่ลืมเลือน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า พ้นจากคลองหัววัง-พนังตักไปไม่นาน ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำริพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ ซึ่งเป็นหนองน้ำธรรมชาติเป็นแก้มลิง เพื่อเป็นเครื่องมือรองรับน้ำหลากอีกตัวหนึ่ง

ต่อมาพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม โดยให้ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปิดต้นคลอง-ปลายคลองที่ขุด เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ติดตั้งสถานีวัดระดับน้ำเพิ่มเติมพร้อมระบบเตือนภัย พิจารณาขุดคลองหรือวางท่อเชื่อมระหว่างคลองท่าแซะ/คลองละมุ เพื่อดึงน้ำจากคลองท่าแซะมาเติมน้ำแก้มลิงหนองใหญ่ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณ ปตร.ราชประชานุเคราะห์ 1-2-3 เพื่อสูบน้ำออกทะเล ลดปริมาณน้ำในคลองท่าตะเภาซึ่งเป็นคลองหลักที่ผ่านเข้าเมืองชุมพร และให้ศึกษาปริมาณน้ำท่าที่แน่นอนที่ไหลผ่านคลองท่าตะเภา

ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จทุกประการ และมีส่วนช่วยให้ชุมพรรอดพ้นปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากชนิดนอนตาหลับได้

“สทนช.กำลังพิจารณาแนวทางและพื้นที่แก้มลิงที่เหมาะสมในการขยายผลแนวพระราชดำริ” ดร.สมเกียรติกล่าว

ฤดูน้ำหลากนี้ สทนช.ยังร่วมกับหลายหน่วยงานดำเนินการติดตามพื้นที่แก้มลิง ทั้งที่ทุ่งบางระกำและทุ่งอยุธยา พื้นที่เหล่านี้นอกจากพัฒนาเป็นแก้มลิงแล้ว ยังปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกข้าวด้วย โดยร่นการปลูกเร็วขึ้นตั้งแต่เมษายน-พฤษภาคม เพื่อเก็บเกี่ยวก่อนน้ำจะหลากมา นอกจากเกษตรกรได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วยโดยไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำหลากแล้ว ยังมีอาชีพเสริมด้วยการจับปลาขายอีกต่างหาก และเมื่อถึงฤดูแล้ง น้ำในแก้มลิงก็มีเพียงพอทำการเพาะปลูกได้อีก

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า แก้มลิงเป็นเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำอย่างหนึ่งที่ต้องขยายผลต่อไป เพราะสามารถใช้ได้ผลในระดับหนึ่ง อีกทั้งนับแต่นี้ไปไม่อาจใช้เครื่องมืออย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียว ตรงข้าม ยังต้องพิจารณาทางกายภาพและภูมิสังคมประกอบด้วย ซึ่งจะต้องมีเครื่องมือที่หลากหลายยิ่งขึ้น

“สทนช.กำลังเร่งศึกษาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์เป็นแก้มลิงได้ดีขึ้น ไม่ว่าบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ บึงราชนก จ.พิษณุโลก บึงสีไฟ จ.พิจิตร เป็นต้น ส่วนพิ้นที่ลุ่มต่ำที่พัฒนาเป็นแก้มลิงก็ขยายพื้นที่มากขึ้นตามลำดับ เพราะเกษตรกรเริ่มเห็นผลดีจากโครงการ” เลขาธิการ สทนช.กล่าว

ดร.สมเกียรติกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ สทนช.พัฒนาแก้มลิงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะมีส่วนช่วยให้พื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งการบรรเทาอุทกภัยและการเพิ่มพูนรายได้จากการทำประมงในช่วงน้ำหลาก ทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำทำการเพาะปลูกในฤดูแล้ง ซึ่งเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นตามลำดับ


กำลังโหลดความคิดเห็น