กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เผยเอกชน 2 กลุ่มยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยทั้งแหล่งเอราวัณ-บงกช โดยแหล่งเอรวัณมีผู้ยื่น 2 ราย ปตท.สผ.เอ็นเนอร์ยี่ ร่วมกับ MPG2 และเชฟรอนโฮลดิ้ง ร่วมกับมิตซุยออยล์ ส่วนแหล่งบงกชยื่น 2 ราย ปตท.สผ.เอ็นเนอร์ยี่ฯ และเชฟรอนฯ ร่วมกับมิตซุยออยล์ ขณะที่ไร้เงา “โททาล”
วันนี้ (25 ก.ย.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้เปิดให้เอกชนผู้ดำเนินการหลัก (โอเปอเรเตอร์) ที่ผ่านมาคุณสมบัติเข้าร่วมการประมูลเพื่อรับคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และ G2/61 (แหล่งบงกช) โดยเปิดให้มีการยื่นข้อเสนอตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. คาดว่าการประมูลครั้งนี้จะก่อให้เกิดการลงทุนประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า หลังการปิดรับข้อเสนอมีผู้ประกอบการมายื่นคำขอประมูลในฐานะผู้ดำเนินงาน แปลงเอราวัณหรือ G1/61 จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited (บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) ร่วมกับ บริษัท MP G2 (Thailand) Limited (บริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด) บริษัทในกลุ่มมูบาดาลา 2. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. ร่วมกับ บริษัท Mitsui Oil Exploration Company Ltd. (บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด)
แหล่งบงกช หรือแปลง G2/61 จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited (บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) 2. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. (บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด) ร่วมกับบริษัท Mitsui Oil Exploration Company Ltd. (บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด)
“การยื่นประมูลครั้งนี้อาจจะน้อยไปหน่อยแต่ก็เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ใน 2 กลุ่มนี้เพราะเป็นรายใหญ่ซึ่งยอมรับว่าโททาลจากฝรั่งเศสที่ร่วมกับทาง ปตท.สผ.มาเองก็ถอนตัวในครั้งนี้เพราะศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมเราไม่มากนัก ส่วนการถือหุ้นนั้นทางเชฟรอนระบุจะถือหุ้น 74% ส่วนมิตซุยถือ 26% ขณะที่ ปตท.สผ.จะถือ 60% และมูบาดาลาถือ 40% โดยหลังจากที่สิ้นสุดอายุสัมปทานไปแล้ว 1 ปีที่แหล่งเอราวัณวันที่ 23 เม.ย. 65 แหล่งบงกชเหนือสิ้นสุด 24 เม.ย. 65 บงกชใต้ มี.ค. 66 ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนสัดส่วนถือหุ้นได้” นายวีระศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 26 ก.ย.นี้คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอจะมีการเปิดซองประมูลที่กำหนดไว้ 4 ซองใน 3 ซองแรกคือ ซองที่ 1 เอกสารด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรเลียมตามกฎหมาย ซองที่ 2 เอกสารข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน ซองที่ 3 เอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนงานช่วงเตรียมการ แผนงานการสำรวจ และแผนการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม หากผู้ที่ยื่นประมูลครั้งนี้ไม่ผ่านคุณสมบัติใน 3 ซองนี้ก็จะไม่เปิดซองที่ 4 คือเอกสารข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทยแต่อย่างใด
“ข้อเสนอที่เอกชนจะต้องให้หน่วยงานรัฐเข้าไปร่วมทุนด้วยนั้นคงจะต้องรอเปิดซองก่อนจึงจะทราบว่าเขาได้เสนอหน่วยงานใด แต่ที่สุดรัฐจะตัดสินใจร่วมหรือไม่อย่างไรก็ต้องพิจารณารายละเอียด” นายวีระศักดิ์กล่าว