xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เห็นชอบร่าง กม.การบินพลเรือน ยกเครื่องรื้อประเด็นล้าสมัย รับ ICAO ตรวจ พ.ค.ปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. ... ยกเครื่องข้อบังคับที่ล้าสมัยและให้สอดคล้องกับเงื่อนไข ICOA “อาคม” เผยปรับ 16 ประเด็นหลักให้เข้มงวด รอบคอบ สร้างความมั่นใจระบบการบินพลเรือนของประเทศไทย เร่งส่ง สนช.อนุมัติก่อนบังคับใช้ คาดทันกับที่ ICAO ตรวจการบ้าน พ.ค. 62

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (25 ก.ย.) ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยมีสาระสำคัญ คือ เป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับ เพื่อให้ครอบคลุมกิจการการบินพลเรือนในทุกมิติที่รัฐต้องกำกับดูแล ยกระดับการบินพลเรือนของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

โดยประเด็นหลักที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติม 16 ประเด็น ที่ ICAO ค้นพบว่ากฎหมายไทยยังไม่เข้มข้นและล้าสมัยไม่ทันกับกฎกติกาที่ ICAO ใช้ และยังเพื่อรองรับการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบและการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล ซึ่ง ICAO กำหนดตรวจสอบการกำกับดูแลของสำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) ในเดือน พ.ค. 2562 โดยหลังจากนี้จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขอความเห็นชอบ ซึ่งคาดว่ากฎหมายจะออกได้ทันกับที่ ICAO เข้ามาตรวจสอบ โดยขณะนี้ได้รายงานความคืบหน้า ICAO เป็นระยะ

โดยประเด็น ICAO ตรวจพบว่าต้องปรับปรุงแก้ไขนี้ไม่เกี่ยวกับการติดธงแดงแล้ว ขณะนี้ประเทศไทยปลดธงแดงเรียบร้อยแล้ว แต่เป็นประเด็นที่ต้องปรับปรุงให้ทันสมัยเหมาะสมซึ่งมีประมาณ 400 ข้อ โดยที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายและให้แก้ไขด่วนมี 45 ข้อ

สำหรับสาระสำคัญในการยกเลิกพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับ วัตถุประสงค์เพื่อใช้บังคับแก่ 1) บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล อากาศยาน สนามบิน ผลิตภัณฑ์การบิน การบริการทางอากาศ และบริการที่เกี่ยวข้องกับการบินทั้งหมดในประเทศไทย 2) อากาศยานซึ่งจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ทุกลำ ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร 3) ผู้ถือเอกสารการบินทุกคนในขณะที่อยู่นอกราชอาณาจักรและใช้สิทธิทำการหรือประสงค์จะใช้สิทธิทำการตามเอกสารการบินนั้น 4) อากาศยานที่จดทะเบียนตามกฎหมายต่างประเทศทุกลำที่ปฏิบัติการบินนอกราชอาณาจักร 5) อากาศยานที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ในขณะที่ปฏิบัติการบินเหนือทะเลหลวง ในส่วนของการปฏิบัติตามกฎทาอากาศ

ส่วนการปรับปรุงเพิ่มเติม 16 ประเด็น ได้แก่ 1. การเพิ่มเติมบทนิยามเกี่ยวกับการบินพลเรือน 2. การปรับปรุงองค์ประกอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการบินพลเรือน 3. เพิ่มอำนาจให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ในการกำกับดูแลกิจการการบินพลเรือน 4. การกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบการกิจการการเดินอากาศ

5. หลักเกณฑ์การกำกับดูแลการขนส่งวัตถุอันตรายและสิ่งของต้องห้ามหรือต้องดูแล เป็นพิเศษ 6. การกำหนดการใช้ห้วงอากาศและการจัดทำแผนนิรภัยในการบินพลเรือน ซึ่งมีเรื่องนโยบายการใช้ห้วงอากาศแบบยืดหยุ่น 7. หลักเกณฑ์การรองรับอากาศยานต่างประเทศที่มีสัญญาเช่าหรือสัญญาอื่นในลักษณะเดียวกันของผู้ดำเนินการเดินอากาศไทย 8. หลักเกณฑ์การกำกับดูแลของผู้ดำเนินการเดินอากาศ และการประกอบกิจการการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ เป็นการอนุญาตให้จัดตั้งสายการบิน (AOL) 9. การเพิ่มอำนาจผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทสไทย ในการกำกับดูแลผู้ประจำหน้าที่ ตั้งแต่นักบินไปจนถึงลูกเรือ รวมทั้งคนที่ทำงานในแอร์ไซด์

10. หลักเกณฑ์การรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกทางการบินพลเรือน 11. ข้อห้ามหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับการดำเนินกิจการรรมที่รบกวนกรารเดินอากาศ 12. เรื่องเงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน 13. หลักเกณฑ์ในการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน 14. หลักเกณฑ์การชวยเหลือและค้นหาอากาศยานประสบภัย 15. เพิ่มอำนาจหน้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ตรวจสอบด้านการบืนในการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือ Inspector ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กฎหมายไม่มี 16. บทกำหนดโทษให้เข้มข้นขึ้น

ทั้งนี้ ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวซึ่งจะครอบคลุมกิจการการบินพลเรือนในทุกมิติที่รัฐต้องกำกับดูแล ยกระดับการบินพลเรือนของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการปรับปรุงกฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุม กำกับดูแล ส่งเสริมและพัฒนาความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกและเศรษฐกิจการบินพลเรือนของประเทศไทย รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศและรองรับการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบและการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล


กำลังโหลดความคิดเห็น