กระทรวงพลังงานระดมพลังงานจังหวัดทั่วประเทศร่วมขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน 6 ด้าน 17 ประเด็นไปสู่แผนปฏิบัติให้สำเร็จภายใต้โรดแมป 5 ปี (ปี 61-65) ดันแจ้งเกิดโซลาร์รูฟฯ ภาคประชาชน ปรับบทบาท 3 การไฟฟ้ารับมือเทคโนโลยีเปลี่ยน เปลี่ยนโหมดปิโตรเคมีสู่ Oil Base หนุนเดินหน้าประมูลเอราวัณ-บงกช ฝันดึง กฟน.-กฟภ.สังกัดกระทรวงพลังงาน
น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนา “สื่อสารนโยบายปฏิรูปประเทศด้านพลังงานสู่การปฏิบัติ” โดยมีพลังงานจังหวัดทั่วประเทศและผู้แทนจากรัฐและรัฐวิสาหกิจในสังกัดร่วมกว่า 300 คนว่า การสัมมนาครั้งนี้ต้องการให้พลังงานจังหวัดได้เข้าใจและนำไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ประชาชนและแปรไปสู่ภาคปฏิบัติตามโรดแมปการปฏิรูปด้านพลังงาน (ปี 2561-65 ) เพื่อมุ่งปรับการบริหารจัดการด้านพลังงานของภาครัฐใหม่ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ปรับรูปแบบการวางแผนการบริหารจัดหาพลังงานเพื่อความมั่นคง ปรับโครงสร้างพลังงานให้มีการแข่งขันมากขึ้น และพัฒนาพลังงานให้เป็นทางเลือกประชาชนมีอิสระด้านพลังงานในการผลิตเอง ใช้เอง เหลือขาย ฯลฯ
“แผนปฏิรูปด้านพลังงานจะครอบคลุม 6 ด้าน 17 ประเด็น ที่ระยะแรกการปฏิบัติจะต้องทำให้เกิดการมีกระบวนการส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับพลังงานซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและนำไปสู่การสร้างความกินดีอยู่ดี เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย หรือโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบและแนวทางการดำเนินการ” น.ส.นันธิกากล่าว
นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยคิดเป็นประมาณ 16 ล้านล้านบาท โดยพลังงานมีส่วนต่อจีดีพีถึง 3 ล้านล้านบาทและเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การปฏิรูปพลังงานจะมีส่วนสำคัญด้วยเหตุที่มีหลายปัจจัยเปลี่ยนไปโดยเฉพาะภาคการผลิตไฟฟ้าที่เดิม 3 การไฟฟ้าเคยยิ่งใหญ่แต่เวลานี้หากไม่ทำอะไรเลยอาจจะอยู่ไม่ได้เพราะเอกชนและประชาชนทั่วไปสามารถจัดหาพลังงานใช้เองได้แล้วจากพลังงานทดแทนโดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป
ส่วนก๊าซธรรมชาตินั้น ไทยเองมีฐานปิโตรเคมีที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาท โดยใช้เป็น Bas Base แต่จากแนวโน้มข้อมูลที่ระบุว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าก๊าซในอ่าวไทยจะทยอยลดลงนั้นทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่ว่าจะเป็น ปตท. เอสซีจี มองไปลงทุนที่ต่างประเทศ ดังนั้นส่วนของการปฏิรูปได้เสนอให้ปรับไปมองในเรื่องของการกลั่นน้ำมันที่ไทยมีความเข้มแข็งไปสู่ Oil Base แทนเพื่อให้ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปิโตรเคมีและต่อยอดการวิจัยและพัฒนาปิโตรเคมีเฟส 4 ทำพลาสติกวิศวกรรม ที่จะรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
“กรณีการเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกชด้วยระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC มีการคัดค้านส่วนตัวก็มองเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นการดำเนินการก็ควรจะต้องให้เป็นไปตามกำหนดเวลาเอาไว้ตามที่นโยบายรัฐบาลกำหนด” นายพรชัยกล่าว
พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า แผนปฏิรูปประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญกำหนดให้สัมฤทธิผลใน 5 ปีซึ่งขณะนี้เหลือเวลาเพียง 4 ปีที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยในส่วนของพลังงานทดแทนนั้นภายใต้แผนได้มีการเสนอแนวทางการพัฒนา เช่น ชีวมวลจากไม้โตเร็ว เช่นกระถินณรงค์ ยูคาลิปตัส โซลาร์รูฟท็อปเสรี โดยเรื่องนี้ได้เสนอให้มีการจัดตั้ง One Stop Service การอนุมัติติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เป็นต้น
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า กรณีบทบาทของรัฐวิสาหกิจนั้น ภายใต้แผนปฏิรูปไม่ได้มีการกำหนดแต่ได้มองในเรื่องของแนวทางปฏิบัติ หรือ Code of Conduct ที่จะมีการนำเอารัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการไฟฟ้าที่มีอยู่ 3 แห่ง (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มาอยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน เพราะปัจจุบันมีการแยกกันอยู่คนละหน่วยงานแต่ก็คงจะต้องมีการหารือกันพอสมควร