xs
xsm
sm
md
lg

ฮิตาชิผุดศูนย์ลูมาดา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลุยบริการใน EEC

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2561 บริษัท ฮิตาชิ จำกัด และบริษัท ฮิตาชิ เอเชีย จำกัด เปิดศูนย์ลูมาดา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Lumada Center Southeast Asia) ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์แรกในโลกนอกประเทศญี่ปุ่น ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี ศูนย์ลูมาดาเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) เพื่อการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะในเฟสแรกให้แก่ผู้ประกอบการทุกรายที่สนใจจะใช้ IoT เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีระดับสูง



นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ศูนย์ลูมาดา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลมาจาก MOU ระหว่างอีอีซี กับบริษัทฮิตาชิที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ในระหว่างการเยือนอีอีซีของ นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งครั้งนั้นท่านได้นำแนวทาง Connected Industry มาเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันประเทศไทย ให้นำระบบอัตโนมัติ (Automation) และ IoT มายกระดับให้ฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทคนไทยในประเทศก้าวเข้าสู่ความทันสมัย และสามารถเชื่อมโยงเข้ากับฐานการผลิตโดยโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศูนย์ลูมาดา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากจะขยายธุรกิจ IoT แล้วยังทำงานเสมือนเป็น “พี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษาด้าน Connected Industry” ให้กับบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยและบริษัทไทย โดยการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เพื่อให้การปรับตัวเข้าสู่ IoT เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
ภารกิจสำคัญของศูนย์ลูมาดา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ
1. สร้าง IoT แพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ผ่านการเชื่อมต่อและวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของลูกค้า (big data analytics)
2. สร้าง solution ผ่านการใช้เทคโนโลยี (co-creating digital solutions)
3. นำเครื่องมือ AI ของศูนย์ลูมาดา รวมความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการดำเนินงาน
(Operational : OT) และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) เข้าด้วยกันไปปรับใช้กับกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจหลากหลายและการใช้งานในรูปแบบต่างๆ

ศูนย์ลูมาดาตั้งเป้าที่จะเข้าถึงโรงงานทั่วประเทศไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต โดยระยะแรกเป็นการยกระดับความสามารถในการผลิตเป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) จากหลากหลายเครื่องมือ เช่น การติดตามและตรวจสอบจากระยะไกล (Distance monitoring) เป็นต้น และคาดว่าในระยะต่อไปจะยกระดับสู่การจัดการระหว่างโรงงานต่อโรงงาน (Inter-Factories) ด้วยการบริหารจัดการด้านลอจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาอันใกล้


กำลังโหลดความคิดเห็น