xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯ ขับเคลื่อนอ่างเก็บน้ำตาช้างไปโลด ใช้การมีส่วนร่วมของประชาชนจนสำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมชลประทานประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนก่อนจะก่อสร้างถึง 4 ปี ผ่าทางตันด้วยกลุ่มที่ได้รับเงินค่าชดเชยยินดีเฉลี่ยให้กลุ่มที่ไม่ได้รับค่าชดเชยด้วย

นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน กล่าวถึงความสำเร็จของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ว่า กรมชลประทานได้ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนแม่ตาช้าง ต.ป่าแดด จ.เชียงราย ในการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้างนับแต่เริ่มต้นต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 4 ปี จนประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนโครงการ นับตั้งแต่การประชุมหารือร่วมกันกำหนดจุดก่อสร้างเขื่อน การออกแบบก่อสร้าง และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมร่วมกับกรมชลประทาน

ขณะนี้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนแม่ตาช้างยังพัฒนาก้าวหน้าถึงขั้นที่กลุ่มราษฎรที่ได้รับค่าชดเชยยินยอมเฉลี่ยเงินให้อีกกลุ่มที่ไม่ได้รับเพื่อให้โครงการเดินหน้าได้โดยปราศจากการคัดค้าน

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถส่งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาในปี 2562 และก่อสร้างในปี 2563 ด้วยความจุ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน 32,000 ไร่

“เป็นความสำเร็จท่ามกลางปัญหาการต่อต้านคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนหลายๆ แห่ง เป็นการตอกย้ำว่ากระบวนการมีส่วนร่วมเป็นทิศทางสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำ”

ทางด้าน นายไพโรจน์ แอบยิ้ม พนักงานการเกษตรชำนาญงาน ฝ่ายจัดสรรน้ำ โครงการชลประทานเชียงราย สำนักชลประทานที่ 2 ซึ่งมีบทบาทประสานงานในพื้นที่แม่ตาช้างเล่าว่า จากผลการศึกษาโครงการจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นพื้นที่มีกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรราวๆ 1,200 ไร่ จำนวน 200 กว่าราย อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่มีเกษตรกร 15 ราย บุกรุกเข้าไปทำกินกว่า 200 ไร่ ซึ่งได้รับผลกระทบทางเข้า-ออกถูกน้ำท่วม ไม่สามารถเข้าที่ทำกินได้

“ส่วนแรกได้รับค่าชดเชยเพราะมีเอกสารครอบครองที่ดิน ส่วนหลังจะไม่ได้เลยเพราะเป็นพื้นที่ป่าถูกบุกรุก ถ้าเป็นสูตรนี้โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตาช้างอาจถูกต่อต้านคัดค้านได้ ดังนั้น กลุ่มแรกจึงยอมแบ่งเงินที่จะได้รับค่าชดเชยให้กลุ่มที่สองด้วย เรื่องถึงจบลงด้วยดี มีการลงบันทึกร่วมกันทั้งสองฝ่าย ทำให้เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการต่อไปได้”

นายไพโรจน์ย้ำว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ส่งผลให้เกิดความเข้าใจในการพัฒนาแหล่งน้ำจนตกผลึก และมีผลดีอย่างที่เห็น

“ไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว มีการพูดคุยสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างกัน และหาทางออกมาโดยตลอด ทั้งในเวทีใหญ่ เวทีย่อย จนทุกคนเห็นพ้องว่าเป็นแนวทางที่ดี ต่างคนต่างได้รับประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีใครเสียประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว พื้นที่ทำกินส่วนที่บุกรุกจะกลับคืนมาเป็นป่าต่อไป โดยคนที่บุกรุกก็กลับมาทำกินในที่ดินที่มีอยู่ด้านท้ายอ่างตามเดิม”

ทั้งนี้ หากเดินหน้าก่อสร้างโดยขาดความยินยอมพร้อมใจจากเกษตรกรที่บุกรุก 15 ราย นอกจากมีการต่อต้านแล้ว ก็อาจทำเส้นทางใหม่อ้อมไปถึงที่ทำกินและทำให้การบุกรุกป่าขยายตัวมากขึ้น เป็นผลเสียต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงอ่างเก็บน้ำ ทั้งสภาพป่า การชะล้างหน้าดิน ตะกอนดินที่ไหลลงอ่าง

“การที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งยอมเจียดเงินค่าชดเชยให้อีกกลุ่ม นอกจากเป็นผลดีต่อน้ำ ต่ออ่างเก็บน้ำแล้ว พื้นที่ตรงนั้นก็จะฟื้นฟูขึ้นมาเป็นแหล่งอาหารของชุมชนที่เข้าไปเก็บหาของป่าได้ ยังไงๆ ก็คุ้ม”

กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนดำเนินการโดยเครือข่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) ซึ่งประกอบด้วยแกนนำของชุมชนที่สมัครใจเข้าร่วมและหน่วยงานรัฐ รวมทั้งกรมชลประทานเข้าไปจัดเวทีทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง จนชุมชนเข้มแข็งและมีส่วนในการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำด้วยตัวเอง ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้ตรงเป้าหมายยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น