xs
xsm
sm
md
lg

เคาะ PPP มอเตอร์เวย์ “นครปฐม-ชะอำ” 7.9 หมื่นล้าน แบบพร้อม EIA ผ่านแล้ว จ่อเข้าคิวเปิดประมูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บอร์ด PPP อนุมัติมอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ วงเงิน 7.9 หมื่นล้าน โดยกรมทางหลวงได้ออกแบบและรายงาน EIA ผ่านการอนุมัติ พร้อมเดินหน้าประมูลตามขั้นตอน พร้อมเร่งรัดรถไฟฟ้าสีส้มตะวันตก พร้อมเดินรถ เผยบอร์ด รฟม.เคาะ PPP Net Cost เปิดกว่า 1.4 แสนล้านแล้ว

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 10 ก.ย. มีมติเห็นชอบในหลักการของโครงการทางหลวงสัมปทาน (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม-ชะอำ (M8) ของกรมทางหลวง (ทล.) ภายใต้มาตรการ PPP Fast Track มูลค่าเงินลงทุนรวม 79,006 ล้านบาท ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และร่วมลงทุนในกรอบวงเงินไม่เกินค่างานโยธา จำนวน 55,805 ล้านบาท และภาคเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา ค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ค่าก่อสร้างที่พักริมทาง และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ ตลอดจนรับผิดชอบการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) รวมถึงการบริหารจัดการที่พักริมทาง ตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กรมทางหลวงกำหนด ในระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี นับจากเปิดให้บริการ

โดยเป็นไปตามแผนแม่บทการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของกรมทางหลวง เพื่อเป็นทางหลวงมาตรฐานสูงสู่พื้นที่ภาคใต้ และช่วยแบ่งเบาปริมาณจราจรบนถนนเพชรเกษม หรือทางหลวงหมายเลข 4 ทำให้การเดินทางของประชาชนมีความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงการเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่พื้นที่ภาคใต้

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษก และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะกรรมการ PPP ได้ภายในปี 2561 ( เงินลงทุนรวม 366,274 ล้านบาท)

และได้ติดตามโครงการระบบขนส่งมวลชนในหัวเมืองต่างๆ ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการกระจายการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาค และบรรเทาปัญหาการจราจรหนาแน่นของหัวเมืองหลัก

รายงานข่าวแจ้งว่า มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ ได้สำรวจออกแบบรายละเอียดแล้ว และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับอนุมัติแล้ว

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.นัดพิเศษเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ได้เห็นชอบผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แล้ว ซึ่งเตรียมเสนอรายงานต่อกระทรวงคมนาคมภายในกลางสัปดาห์นี้ ซึ่งจะแบ่งเป็นการลงทุนแบบ PPP Net Cost 1 สัญญา ค่าเวนคืน 15,000 โดยการประมูลจะแบ่งเป็นข้อเสนอ

1. ด้านงานโยธาด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 16.4 กม. วงเงินค่าก่อสร้างและดอกเบี้ยประมาณ 96,000 ล้านบาท ซึ่งใช้รูปแบบให้เอกชนลงทุนก่อสร้างไปก่อน รัฐทยอยชำระคืนค่างานโยธาภายใน 10 ปี

2. ข้อเสนอการลงทุนระบบอาณัติสัญญาณ การบริหารเดินรถและขบวนรถ วงเงิน32,000 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี โดยเอกชนต้องรับความเสี่ยงเอง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ PPP ในการประชุมครั้งต่อไป จากนั้นจะเข้า ครม.ขออนุมัติเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2556 ตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 ร่าง TOR

สำหรับการศึกษารูปแบบการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม.นั้น จะเร่งสรุปผลการคึกษาบอร์ด รฟม.ในวันที่ 21 ก.ย.นี้ เบื้องต้นจะใช้รูปแบบ PPP ประเภท Gross Cost


กำลังโหลดความคิดเห็น