xs
xsm
sm
md
lg

BCPG เล็งโซลาร์ลอยน้ำ กฟผ. 45 MW หาพันธมิตรเชี่ยวชาญร่วมประมูลแข่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บีซีพีจีประกาศตัวสนใจประมูลโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ระยะ 2 ขนาด 45 เมกะวัตต์ของ กฟผ. พร้อมจับมือพันธมิตรร่วมลงทุน ขณะเดียวกัน เล็งลงทุนโซลาร์ฟาร์มที่เวียดนามหลังเวียดนามส่อแววประกาศเลื่อนการจ่ายไฟ (COD) จากกลางปีหน้าออกไปอีก

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (BCPG) เปิดเผยว่า บริษัทสนใจเข้าประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) ระยะที่ 2 ในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ (MW) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เนื่องจากบริษัทไม่มีเทคโนโลยีเรื่องนี้จำเป็นต้องหาพันธมิตรระดับโลกเข้าร่วมด้วย ซึ่งเอสซีจีก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการลงทุนพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการเจรจากัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กฟผ.ได้ร่วมกับเครือเอสซีจีทำโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำนำร่อง ระยะที่ 1 ขนาดกำลังผลิต 250-500 กิโลวัตต์ ติดตั้งที่เขื่อนท่าทุ่งนา จ. กาญจนบุรี ที่จะแล้วเสร็จไตรมาส 1/2562 นี้ ซึ่งถ้าผลออกมาดีก็จะช่วยเสริมโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำเฟส 2 ซึ่งเชื่อว่า กฟผ.จะทำขนานกันไปพร้อมกับโครงการฯ ระยะที่ 1 แต่ทั้งนี้โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ระยะ 2 ได้รับความเห็นชอบจากบอร์ด กฟผ.แล้ว แต่จะต้องรอการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก่อน

“โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ ในต่างประเทศมีการทำกัน ผมดูเรื่องนี้มาหลายปีทั้งที่เกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งไทยมีศักยภาพในการทำโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำเพราะมีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจำนวนมาก หากติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำน่าจะทำได้สูงถึง 1 หมื่นเมกะวัตต์ เพราะเขื่อนก็ติดตั้งได้ราว 3 พันเมกะวัตต์แล้ว แต่อ่างเก็บน้ำในประเทศมีมากกว่านั้นอีก ส่วนต้นทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำสูงกว่าโซลาร์ฟาร์มทั่วไปแน่ แต่อนาคตต้นทุนจะปรับลดลง”

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทั้งสัตว์น้ำในเขื่อน และประชาชนโดยรอบ รวมทั้งเทคโนโลยีของโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำต้องยืดหยุ่นกับปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลงขึ้นระดับที่สูงต่างจากอ่างเก็บน้ำที่ระดับน้ำไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง

นายบัณฑิตกล่าวต่อไปว่า บริษัทยังสนใจลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศเวียดนาม หลังมีกระแสข่าวว่าเวียดนามจะขยายระยะเวลาการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในกลางปี 2562 ออกไป โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรท้องถิ่น ซึ่งขนาดการลงทุนโซลาร์ฟาร์มที่เวียดนามจะต้องใกล้เคียงกับโครงการโซลาร์ฟาร์มของบริษัทที่ญี่ปุ่น หรือมีกำลังผลิตไฟมากกว่า 100 เมกะวัตต์

ส่วนโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพที่อินโดนีเซียขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจ เพื่อลงทุนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมจากปัจจุบันบริษัทถือหุ้นทางอ้อมอยู่ 33.3% ในบริษัท สตาร์เอ็นเนอร์ยี่กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 182 เมะกะวัตต์ และมีแหล่งสัมปทานใหม่ที่จะเปิด ซึ่งบริษัทและพันธมิตรพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มด้วย

นายบัณฑิตกล่าวว่า แผนการลงทุนบริษัทใน 5 ปี (2562-66) จะใช้เงินลงทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาทในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งรุกตลาดผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง (Retail) รายย่อยโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และธุรกิจดิจิทัล มีการติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Equipment) รวมทั้งการเป็นผู้ให้บริการบริหารพลังงานและทรัพย์สิน และบำรุงรักษา ซึ่งในอนาคตจะเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูง อาทิ โซลาร์ 1 เมกะวัตต์มีค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาปีละ 1 ล้านบาท เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น