สนข.ปลุกท้องถิ่นร่วมพัฒนารถไฟฟ้าแก้จราจรแบบยั่งยืน ชงผลศึกษารถไฟฟ้าขอนแก่น, พิษณุโลก เข้า คจร. ก.ย.นี้ ขณะที่คาดเปิด PPP รัฐบาลกลางจับมือท้องถิ่นตั้งบริษัทระดมทุนสร้างรถไฟฟ้าเชียงใหม่ โดยจ้างเอกชนเดินรถ 30 ปี
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่ออนาคตว่า จากที่ สนข.ได้ศึกษาการแก้ปัญหารับขนส่งสาธารณะในภูมิภาค 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ พิษณุโลก และภูเก็ต โดยในส่วนของเชียงใหม่ได้ดำเนินโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่เสร็จแล้วและมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่ง รฟม.อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษารายงานการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมเพื่อให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) คาดว่าจะแล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ และเริ่มก่อสร้างได้ช่วงปลายปี 2562
จ.เชียงใหม่จำนวนประชากรมีการเติบโตสูง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เฉลี่ยปีละ10% ขณะที่มีปัญหาถนนแคบ ซึ่งเป็นผังเมืองเดิม ความเร็วรถเฉลี่ยในบางช่วง 10 กม./ชม.เท่านั้น โดยในแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะพบว่ารูปแบบในการเดินทางที่เหมาะสมคือ รถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จำนวน 3 เส้นทาง วงเงินรวม 106,895 ล้านบาท ระยะทาง 34.93 กม. โดยจะลงทุนสายสีแดงก่อน มีระยะทาง 12.54 กม.(บนดิน 5.17 กม. ใต้ดิน 7.37 กม.) มี 12 สถานี เส้นทางโรงพยาบาลนครพิงค์-ศูนย์ราชการเชียงใหม่-สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ (พ้นเขตสนามบินใช้ทางวิ่งบนดิน)-กรมการขนส่งทางบก-ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีหางดง วงเงินลงทุน 24,256.35 ล้านบาท เนื่องจากเส้นทางผ่านจุดที่มีกิจกรรมหลักของจังหวัด
คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 5-6 ปี เพราะมีโครงข่ายทางเลือกทั้งทางวิ่งบนดินและใต้ดิน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 35 กม. ตามความเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้กระทบต่อผังถนนและบดบังทัศนียภาพเมืองท่องเที่ยว ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นโดยประเมินค่าก่อสร้างบนดินเฉลี่ย 500 ล้านบาท/กม. ส่วนใต้ดินเฉลี่ย 3,000 ล้านบาท/กม. นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อีกด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) จะประชุมภายในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งจะรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารางเบาที่เชียงใหม่, นครราชสีมา, ภูเก็ต ต่อ คจร.เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน รวมถึงเสนอผลศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะที่จังหวัดพิษณุโลก และขอนแก่น
โดยที่พิษณุโลกมี 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 83.05 กม. มูลค่าก่อสร้าง 2,607 ล้านบาท โดยจะลงทุนสายสีแดงระยะทาง 12.6 กม. ซึ่งเป็นรถรางล้อยาง (Auto Tram) วงเงิน 762 ล้านบาทก่อน ส่วนอีก 5 เส้นทางจะเป็นรูปแบบรถโดยสาร หรือไมโครบัส
ขอนแก่น จะเป็นรถไฟฟ้ารางเบา เส้นทางในแนวเหนือ-ใต้ (บ้านสำราญ ตำบลสำราญ-ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น) ระยะทางประมาณ 22.8 กม. วงเงิน 26,900 ล้านบาท ขออนุมัติเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการศึกษาต่อไป
“การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่นั้น นอกจากศึกษารูปแบบที่เหมาะสมแล้ว จะต้องมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเดินทางให้มาใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วย” นายชัยวัฒน์กล่าว
***แนะรัฐบาลกลางร่วมมือท้องถิ่นตั้งบริษัทระดมทุนเพื่อลงทุน และจ้างเอกชนบริหารเดินรถ
นายทรงยศ กิจธรรมเกษร ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการจัดระบบการจราจรและขนส่งภาคเหนือ (ตอนบน) ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการระดมความเห็นในการศึกษาแผนแม่บท ปัจจุบันเชียงใหม่มีการเดินทางถึง 2 ล้านเที่ยว/วัน โดยกว่า 50% ใช้รถจักรยานยนต์ อีก 35% ใช้รถส่วนตัว และมีเพียง4% ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพราะมีจำนวนไม่เพียงพอ ขาดประสิทธิภาพ มีจำนวนอุบัติเหตุสูง ประสบปัญหารถติด ความเร็วรถเฉลี่ยเพียง 8 กม./ชม. โดยจากการศึกษาแผนแม่บทขนส่งสาธารณะ ซึ่งประชาชนต้องการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็ว และขอให้ก่อสร้างเป็นระบบใต้ดิน
โดยระบบหลัก เป็นระบบรถไฟฟ้าแบบรางเบา (LRT) 3 เส้นทางรวมระยะทาง 34.93 กม. ได้แก่ สายสีแดง ระยะทาง 12.54 กม. (บนดิน 5.17 กม. ใต้ดิน 7.37 กม.) มี 12 สถานี เส้นทางโรงพยาบาลนครพิงค์-ศูนย์ราชการเชียงใหม่-สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ (พ้นเขตสนามบิน ใช้ทางวิ่งบนดิน)-กรมการขนส่งทางบก-ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีหางดง วงเงินลงทุน 24,256.35 ล้านบาท โดยจะดำเนินการก่อสร้างก่อน
สายสีน้ำเงิน ระยะทาง 11.92 กม. (บนดิน 3.15 กม. ใต้ดิน 8.77 กม.) มี 13 สถานี วงเงินลงทุน 30,514.79 ล้านบาท
สายสีเขียว ระยะทาง 10.47 กม. (บนดิน 2.55 กม. ใต้ดิน 7.92 กม.) มี 10 สถานี วงเงินลงทุน 25,548.54 ล้านบาท
และมีระบบรอง เป็นระบบรถโดยสารประจำทาง 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 89 กม. เป็นเส้นทางเชื่อมกับโครงข่ายหลัก LRT แต่ละเส้นทางสามารถวิ่งร่วมกับการจราจรปกติ หรือมีเขตทางพิเศษบางส่วน (Bus Lane) และระบบเสริม เป็นรถโดยสารประจำทางในเมือง 7 เส้นทาง ระยะทาง 85 กม. วิ่งร่วมกับการจราจรปกติในเขตเมือง วงเงินลงทุน 6,336.92 ล้านบาท โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารแรกเข้าที่ 15 บาท และบวก กม.ต่อไป กม.ละ 1บาท
สำหรับแนวทางการลงทุน PPP ที่เป็นไปได้คือ 1. รัฐลงทุนงานโยธา เอกชนลงทุนงานระบบเครื่องกลและระบบไฟฟ้า (M&E) และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า หรือ 2. รัฐบาลกลาง ร่วมกับท้องถิ่นจัดตั้งบริษัทและระดมทุน (กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน) โดยอาจจะจ้างเอกชนเดินรถในรูปแบ PPP Gross Cost ซึ่งทั้งแนวทางที่ 1 และ 2 มีความเป็นไปได้ ขึ้นกับรัฐจะลงทุนมากน้อยแค่ไหน โดยระยะเวลาสัมปทานที่ 30 ปี นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการพัฒนา TOD ตามแนวเส้นทางอีก 9 พื้นที่ ซึ่งภาคเอกชนในจังหวัดด้านอสังหาริมทรัพย์มีความตื่นตัวกับโครงการอย่างมาก