xs
xsm
sm
md
lg

“ไพรินทร์” ติวเข้มบินไทย แก้ต้นทุนน้ำมัน-อัตราแลกเปลี่ยน “สุเมธ” จัดทีมอุดรูรั่วบัญชี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ไพรินทร์” มอบนโยบายการบินไทย มั่นใจ “เอกนิติ- สุเมธ” ขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูพลิกธุรกิจสายการบินแห่งชาติ แนะบริหารราคาน้ำมันและศึกษาโมเดลศูนย์บริหารการเงิน ของ ปตท.ที่สิงคโปร์ ลดความเสี่ยงความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน “สุเมธ” เซตทีมการเงินแกะบัญชีอุดรูรั่ว ระบุย้ายไปเทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ ต้องได้ประโยชน์สูงสุด

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตรวจเยี่ยมและให้นโยบายการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) และผู้บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานบอร์ดคนใหม่ และนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) คนใหม่ ร่วมหารือ ซึ่งนายไพรินทร์เปิดเผยว่า เป็นการให้นโยบายครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งขณะนี้การบินไทยมีประธานบอร์ดและดีดีคนใหม่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นช่วงที่พร้อมสำหรับขับเคลื่อนให้บริษัทฯ เดินหน้าดำเนินการตามแผนฟื้นฟูที่เสนอไว้กับ คนร.เพื่อสร้างผลประกอบการที่ดีได้

แม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทฯ ยังประสบกับการขาดทุนจากภาวะอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีหนี้และรายได้หลายสกุล รวมถึงราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น แต่หากใช้ความพยายามมากกว่าเดิม จะพลิกฟื้นธุรกิจได้

สำหรับการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 23 ลำ วงเงิน 1 แสนล้านบาทนั้น เครื่องบินถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการหารายได้ ซึ่งได้เร่งเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อจัดหาโดยเร็ว

นายไพรินทร์กล่าวว่า นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) คนใหม่ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน มีประสบการณ์บริหารจัดการองค์กรขนาดใหญ่ น่าจะนำพาการบินไทยให้สำเร็จตามเป้าหมายได้ไม่ยาก พร้อมกันนี้ ได้แนะนำให้ดำเนินการเป็นกลุ่มธุรกิจ ซึ่งมี “ไทยกรุ๊ป” คือ การบินไทย ไทยสมายล์ และนกแอร์ ซึ่งจะดำเนินการอย่างไร จะเพิ่มทุนหรือไม่อย่างไร ได้มอบหมายให้บอร์ดพิจารณาตัดสินบนพื้นฐานเหตุและผล โดยฝ่ายการเมืองจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว

ขณะนี้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 70 กว่าเหรียญ เป็นเรื่องนอกเหนือการควบคุม เป็นสถานการณ์โลกที่ทุกคนเจอ ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีวิธีการบริหารจัดการ เช่นเดียวกับธุรกิจพลังงานที่มีวิธีการบริหารจัดการ การประกันความเสี่ยงราคา มีเครื่องมือทางการเงิน ส่วนการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ตัวอย่างที่ ปตท.ที่เคยมีปัญหาก็จะมีศูนย์บริหารการเงินของกลุ่ม ปตท. หรือ PTT Regional Treasury Center ณ ประเทศสิงคโปร์ คอยบริหารจัดการ ซึ่งได้ฝากการบินไทยไปพิจารณาเรื่องนี้

สำหรับสถานการณ์พายุ และแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นนั้น นายไพรินทร์กล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นตลาดสำคัญของการบินไทย อาจจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการบ้าง แต่เชื่อว่าญี่ปุ่นจะสามารถฟื้นฟู และกลับมาเป็นปกติในเวลาอันสั้น โดยในส่วนของสนามบินคันไซ อาจจะวิกฤตมากเนื่องจากสะพานที่เชื่อมเข้าสนามบินชำรุด การฟื้นฟูจะใช้เวลาหลายวัน ส่วนที่ฮอกไกโดจะใช้เวลาสั้นกว่า ซึ่งเที่ยวบินอาจจะปรับไปใช้ที่นาโกยา และสนามบินอื่นๆ ของญี่ปุ่นแทน

“ในการทำงานอยากให้มองเปรียบเทียบเหมือนสถานการณ์การช่วยทีมหมูป่าออกจากถ้ำ หากการบินไทยคือ หมูป่า จะช่วยออกจากถ้ำได้ ฝ่ายจัดการและบอร์ดต้อง United as one ขณะที่ไม่สามารถรอเวลาให้ล่วงเลยไปได้แล้ว เหมือนทีมหมูป่าที่รอไม่ได้เพราะฝนกำลังจะมา อากาศกำลังจะหมด การบินไทยก็เช่นกัน เพื่อให้มีความแข็งแกร่งอีกครั้ง”

***“สุเมธ” เดินตามแผนฟื้นฟู จัดทีมแกะบัญชี อุดช่องโหว่ ลดต้นทุน

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย กล่าวว่า รมช.คมนาคมได้แนะนำเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สิน ซึ่งในธุรกิจการบินเครื่องบินมีความสำคัญมาก ขณะที่การบินไทยมีเส้นทางการบินที่ดี ถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่ต้องรักษาไว้ นอกจากนี้ ยังมีบุคลากรเป็นทรัพยากรที่ดี มีความชำนาญในธุรกิจการบินอีกด้วย

ปัญหาของการบินไทยคือ ได้รับผลกระทบจากตลาดการบินที่เปลี่ยนแปลง มีเรื่องเปิดเสรีน่านฟ้า มีสายการบินโลว์คอสต์ ทำให้กระทบต่อธุรกิจ ซึ่งเป็นปกติของระบบรัฐวิสาหกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้ต้องปรับตัว ซึ่งยืนยันว่าแผนฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจาก คนร.เป็นแนวทางที่ดี มีเป้าหมายที่พลิกฟื้นบริษัทฯ ให้มีกำไร จะทำตามแผน ให้บรรลุเป้าหมาย

ทั้งนี้ จะจัดหาทีมผู้ช่วยมาบริหารจัดการด้านการเงินของบริษัท จะดูรายละเอียดของบัญชีในทุกจุด ทุกเรื่อง เพื่อให้เห็นว่าต้องปรับปรุงแก้ไขตรงไหนบ้าง ยอมรับว่าต้นทุนบางตัวยังสูง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังบริหารได้ไม่ดี โดยมีต้นทุนน้ำมันประมาณ 30% ของรายได้ ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ทุกสายการบินกระทบเหมือนกัน ดังนั้น การปรับค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิง (Fuel Surcharge) เพื่อชดเชยต้นทุนน้ำมันนั้นไม่ใช่การบินไทยทำเพียงรายเดียว ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ที่มีการค้าขายและหนี้ในเงินตราหลายสกุลนั้น ตรงนี้ต้องหาวิธีบริหารจัดการเช่นกัน

ส่วนอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ที่เป็นตัววัดด้านการตลาด ที่ผ่านมาถือว่าโตตามเป้าหมาย แสดงว่าการทำตลาดไม่ใช่ปัญหา ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อหน่วย (Yield) อาจจะยังต่ำกว่าคู่แข่งเล็กน้อย ซึ่งเป็นเพราะว่าต้นทุนบางตัวยังสูง แต่ไม่ได้ถือว่าแย่มาก

“การแข่งขันในปัจจุบันที่เต็มรูปแบนั้น ต้องมีประสิทธิภาพและมีเครื่องมือที่เพียงพอจึงจะต่อสู้ได้ ซึ่งการบินไทยมีพื้นฐานที่ดี หากสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ก็จะไปต่อได้ ผมมั่นใจการบินไทยยังอยู่ในสถานะที่แข่งขันได้ และมีเป้าหมายให้ผลประกอบการจะออกมาดีจนพนักงานมีโบนัส และเชื่อว่าพนักงานอยากให้บริษัทอยู่รอด ซึ่งพนักงานจะต้องให้ความร่วมมือกันในการพลิกฟื้นบริษัทด้วย”

***เร่งเจรจา ทอท.ใช้เทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ ต้องได้ประโยชน์สูงสุด

นายสุเมธกล่าวถึงกรณีย้ายไปใช้พื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิว่า ได้นัดหารือกับ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เร็วๆ นี้ ซึ่งจะต้องหารือรายละเอียด เหตุผลต่างๆ โดยมุ่งที่ให้ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเรามองว่า ทอท.เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวในการทำงานร่วมกัน เพราะอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคมเหมือนกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น