ทอท.คาดโมเดลประมูลดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ พ่วง 3 สนามบินภูมิภาค “เชียงใหม่, หาดใหญ่, ภูเก็ต” เหมือนเดิม เหตุคุ้มค่ากว่าแยกสัญญาเนื่องจากบางสนามบินพื้นที่น้อย “นิตินัย” ชงบอร์ด ทอท. 19 ก.ย.เคาะหลักการก่อนเดินหน้าประมูล ส่วนปัญหาแบบเทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ หากยืดเยื้อต้องแยกประมูลทีหลัง
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า สัญญาสัมปทานพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูมิภาคอีก 3 แห่ง คือ เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต ของบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPS) จะหมดลงในเดือน ก.ย. 2563 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดเงื่อนไข โดยเบื้องต้นที่ปรึกษาสรุปรูปแบบสัมปทานดิวตี้ฟรี ที่สนามบินสุวรรณภูมิผูกรวมกับอีก 3 สนามบินภูมิภาคเหมือนเดิม เนื่องจากสนามบินบางแห่ง เช่น หาดใหญ่ มีพื้นที่ดิวตี้ฟรีน้อย ยอดขายน้อย การแยกสัมปทานแต่ละสนามบินจะไม่คุ้มค่า การผูกรวมเป็นสัญญาเดียวจะเพิ่มมูลค่าและผลตอบแทนให้ ทอท.อีกด้วย ซึ่งจะเสนอรายงานต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ในการประชุมวันที่19 ก.ย.นี้เพื่ออนุมัติในหลักการ
ขณะที่รูปแบบเดิม คือการทำเป็นสัญญาใหญ่รายเดียว (Mater Concession) หรือแนวคิดในการแบ่งสัญญาตามพื้นที่ หรือหมวดหมู่สินค้า (Concession by Category) นั้นยังต้องสรุปความชัดเจนในการกำหนดกติกา ซึ่งจะเสนอบอร์ดพิจารณาเช่นกัน
นอกจากนี้ เงื่อนไขในการประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีของสุวรรณภูมิยังจะต้องรอความชัดเจนของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสุวรรณภูมิในการใช้พื้นที่ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่จะย้ายการให้บริการมาอยู่ที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพื่อจัดสรรพื้นที่ส่วนที่เหลือจากการให้บริการผู้โดยสารมาดำเนินการด้านเชิงพาณิชย์ และดิวตี้ฟรี ซึ่งจะเร่งหารือกับ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) คนใหม่ หลังเข้ารับตำแหน่งวันที่ 3 ก.ย.นี้
รวมถึงยังต้องรอความชัดเจนประเด็นการยื่นฟ้องศาลปกครอง ในการประมูลงานจ้างสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก-อีเอ็มเอส-เอ็มเอชพีเอ็ม-
เอ็มเอสอี-เออาร์เจ (DBALP) ประกอบด้วย บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด บริษัท อีเอ็มเอส คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด บริษัท มัลติ ซิสเต็ม เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท เออาร์เจ สตูดิโอ จำกัด บริษัท นิเคนเซกเก จำกัด (NIKKEN SEKKEI LTD) เป็นผู้ชนะ ว่าศาลจะรับฟ้องหรือไม่ หากรับจะทำให้อาจใช้เวลานาน จำเป็นต้องตัดอาคาร 2 ออกจากการประมูลดิวตี้ฟรีไปก่อน
“ภายในเดือน ก.ย. ตั้งเป้าว่าเงื่อนไขในการประมูลดิวตี้ฟรีควรจะต้องชัดเจนเพื่อเปิดประมูลภายในปีนี้ ซึ่งหากจะมีความล่าช้าออกไปบ้าง ในส่วนของสนามบินภูมิภาคไม่น่ามีปัญหาเพราะพื้นที่ไม่มากนัก ผู้ชนะประมูลใช้เวลาเจรจาจัดหาสินค้า และปรับปรุงพื้นที่ไม่นาน”
ร.ต.ธานี ช่วงชู รองผู้อำนวยการ ท่าอากาศยานภูเก็ต สายสนับสนุนธุรกิจ ทอท.กล่าวว่า ปัจจุบันสนามบินภูเก็ตมีพื้นที่ดิวตี้ฟรีตามสัญญากว่า 1,000 ตร.ม.เท่านั้น ขณะที่พื้นที่ในการเปิดประมูลใหม่จะใกล้เคียงสัญญาเดิมเนื่องจากยังเป็นอาคารระหว่างประเทศเดิม ซึ่งในส่วนของอาคารระหว่างประเทศสนามบินภูเก็ตจะมีการประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรี ซึ่งพ่วงกับสนามบินสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ หาดใหญ่, พื้นที่รีเทล ปัจจุบันเป็นสัญญาของคิงเพาเวอร์ และการประมูลจุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี (Pick Up Counter) ส่วนอาคารในประเทศนั้น ทอท.บริหารพื้นที่เอง โดยทำสัญญาตรงกับร้านค้าต่างๆ อายุสัญญา 5 ปี
โดยสนามบินหาดใหญ่มีรายได้รวมประมาณ 7,300 ล้านบาท มีกำไรประมาณ 3,300 ล้านบาท