xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมรื้อแผนเผชิญเหตุรถไฟฟ้าขัดข้อง ยกระดับเหตุ เพิ่มปัจจัยเสี่ยง ขันน็อตทีมแก้ไข

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“คมนาคม”ตั้งกก.แก้ปัญหารถไฟฟ้าขัดข้องชุดใหม่ พร้อมยกระดับแผนบริหารความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุใหม่ จัดระดับเหตุการณ์รุนแรงสุดรถไฟฟ้าหยุดวิ่ง ตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ พร้อมทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ครอบคลุมมากขึ้น ยอมรับอาณัติสัญญาณบีทีเอสขัดข้อง ไม่เคยอยู่ในแผนมาก่อน ด้านบีทีเอสยันต.ค.แก้ปัญหาเสร็จ รถไม่กระตุก

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการประสานงานและบริหารจัดการแก้ไขปัญหา กรณีเหตุขัดของของระบบรถไฟฟ้าขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ว่า จากที่รถไฟฟ้าเกิดเหตุขัดข้องบ่อยขึ้น และหลายครั้งขัดข้องจากเหตุที่ไม่ได้คาดหมาย ซึ่งคู่มือของแผนบริหารความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุเดิม ที่จัดทำโดยคณะกรรมการฯที่จัดตั้งเมื่อปี 59 ยังไม่ครอบคลุมในหลายเหตุการณ์

เช่น กรณีระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าบีทีเอส ขัดข้องทำให้เกิดการเดินรถล่าช้า เมื่อเดือนมิ.ย. 61 ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯชุดใหม่ และมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ เพิ่มเติมจากการกำหนดแผนเท่านั้น ก็ให้สามารถบริหารจัดการแก้ปัญหาระบบรถไฟฟ้าได้ครอบคลุมกับเหตุการณ์ และรวดเร็ว รวมถึงจัดปรับปรุงแผนเผชิญเหตุใหม่ ซึ่งจะในเดือนก.ย. จะประชุมพิจารณาร่างแผนเผชิญเหตุฯ อีกครั้ง เพื่อสรุปเสนอปลัดกระทรวงคมนาคมคาดว่าจะลงนามในแผนใหม่ได้ช่วงต้นเดือนพ.ย. 2561

ทั้งนี้ ในแผนเผชิญเหตุฯเดิม กำหนดเหตุการณ์ระบบรถไฟฟ้าขัดข้องไว้ 3 ระดับ ส่วนแผนใหม่ จะกำหนด 5 ระดับ และใช้สีเป็นตัวกำหนด คือ 1. ผลกระทบน้อยมาก (สีเหลือง) เกิดเหตุขัดข้องที่แก้ไขได้ภายในไม่เกิน 5 นาที 2. ผลกระทบน้อย(สีเขียว) เกิดเหตุขัดข้องที่แก้ไขได้ภายใน 5-15 นาที (ช่วงเวลาปกติ) 3. ผลกระทบปานกลาง (สีฟ้า) เกิดเหตุขัดข้องที่แก้ไขได้ภายในไม่เกิน 5 -15 นาที (ช่วงเวลาเร่งด่วนและเวลาปกติ) 4. ผลกระทบสูง (สีส้ม) เกิดเหตุขัดข้องที่แก้ไขเกิน 15 นาที 5. ผลกระทบสูงมาก (สีแดง) รถไฟฟ้าหยุดให้บริการ

และจะกำหนดหน้าที่ในการจัดการ ของผู้เกี่ยวข้องไว้ชัดแจนในแต่ละระดับเหตุการณ์ ทุกคนจะรู้หน้าที่ตนเอง เช่น ขสมก.จัดรถเมล์ช่วย ,ขบ.ดูแลไม่ให้รถสาธารณะอื่นเอาเปรียบผู้โดยสาร โดยมีผู้บัญชาการเหตุการณ์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปลอดภัยคมนาคม

ตัวอย่างเหตุเล็กๆ เช่น คนล้นสถานี ,รถแอร์ไม่เย็น ,น้ำรั่ว ส่วนเหตุการณ์ใหญ่ จนทำให้เกิดรถไม่ได้ เช่น ไฟดับ ก่อวินาศกรรม พวกนี้ ใช้เวลาแก้ไขนาน ต้องเปลี่ยนโหมดเดินทาง ส่วน รถไฟฟ้า MRT ,สายสีม่วง และแอร์พอร์ตลิงก์ ไม่มีปัญหาเรื่องระบบอาณัติสัญญาณ

โดยรถไฟฟ้า MRT เกิดเหตุรุนแรงที่สุด ช่วงเปิดให้บริการ ขบวนรถไหลมาชนกัน ,รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ระบบไฟฟ้าขัดข้อง รถหยุดนิ่งเป็นเวลานานก่อนถึงสถานีรามคำแหง เมื่อ 21 มี.ค. 2559 บีทีเอส มีหยุดการเดินรถ จากเหตุการณ์ประท้วง อย่างไรก็ตาม แผนเผชิญเหตุฯนี้ ไม่ได้รวมไปถึงการชดเชยเยียวยาผู้โดยสารกรณีที่ไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสัญญาของแต่ละผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ได้ติดตามการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณบีทีเอส ซึ่งได้ขยับคลื่นความถี่มาอยู่ที่ 2485-2495 เมกะเฮิร์ต ปรับปรุงตัวกรองสัญญาณ 200 กว่าจุด ปรับปรุงตัวรถ โดยจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนต.ค. 2561 บีทีเอสระบุว่า ปัจจุบันขบวนรถยังมีการกระตุกแต่ลดลงจาก 200 -300 ครั้งต่อวัน เป็น100 ครั้งต่อวันและขณะนี้เหลือเพียง 10 ครั้งต่อวัน หลังเดือนต.ค. การกระตุกจะน้อยไม่เกิน 2-3 ครั้งต่อวัน ซึ่งกทม.และบีทีเอส จะมีตัวชี้วัด (KPI) ร่วมกันด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น