xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าไทยเร่งคมนาคมผุดแผนแม่บทท่าเรือสำราญ ยกไทยศูนย์กลางท่องเที่ยวทางน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หอการค้าไทยพบ “อาคม” เร่งผลักดันและขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ หนุนแผนแม่บทท่าเรือสําราญขนาดใหญ่และเส้นทางเดินเรือ (Cruise Master Plan) ยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำ ชูพัฒนา “พัทยา, ภูเก็ต” นำร่อง และเร่งขยาย สนามบินเชียงใหม่และภูเก็ต ยกระดับบุรีรัมย์เป็นสนามบินนานาชาติรองรับการเติบโต

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนเร่งรัดโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนมาโดยตลอดเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมแผนงานให้เหมาะสม โดยหอการค้าไทยได้ขอให้เร่งรัดการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ในส่วนของเส้นทางสายใหม่ที่เชื่อมจากสายหลักกับจังหวัดสำคัญ การพัฒนาสนามบินเชียงใหม่และภูเก็ต รวมถึงสนามบินของกรมท่าอากาศยาน และการจัดทำแผนแม่บทรองรับเรือสําราญขนาดใหญ่ (Cruise) รวมถึงพัฒนาเส้นทางเดินเรือเพื่อรองรับการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งโครงการส่วนใหญ่อยู่ในแผนงานของกระทรวงคมนาคมแล้ว โดยจะเร่งรัดการดำเนินงานต่อไป

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ทั้งส่วนกลางและพื้นที่ภาคทั้ง 5 ภาคได้หารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งเร่งรัดและติดตามโครงการที่สำคัญๆ ของแต่ละพื้นที่ และข้อเสนอด้านนโยบาย โดยหอการค้าไทยได้แบ่งประเด็นในการนำเสนอ 3 กลุ่ม ดังนี้

1. ด้านนโยบาย ได้เสนอให้มีการจัดทำแผนแม่บทท่าเรือสําราญขนาดใหญ่และเส้นทางเดินเรือ หรือ Cruise Master Plan เพื่อยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำ (Cruise Tourism) โดยกรมเจ้าท่า (จท.) เป็นผู้จัดทำแผน และมีการพิจารณาออกมาตรการทางการเงินสนับสนุนการประกอบธุรกิจพาณิชยนาวี ตามที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบเมื่อปี 2554 ให้มีผลในทางปฏิบัติอีกครั้ง (วงเงิน 18,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี) และความก้าวหน้าในการจัดตั้งกรมราง

2. ข้อเสนอให้เร่งรัดดำเนินการและติดตามความก้าวหน้าโครงการต่างๆ ทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 35 โครงการ โดยทางบกมี 22 โครงการ, ทางราง 8 โครงการ ได้แก่ รถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งล่าสุด ครม.ได้เห็นชอบแล้ว, สายสุราษฎร์ธานี-พังงา-ท่านุ่น, สุราษฎร์ธานี-ดอนสัก, บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม รถไฟความเร็วสูง ต่อขยายจากสนามบินอู่ตะเภา-ระยอง, การเดินรถไฟกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ เป็นสปรินเตอร์ ซึ่งลดระยะเวลาจาก 4 ชม.เป็น 2 ชม. เพื่อรองรับการเดินทางที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังขอให้เร่งพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) สถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ (ICD) และลานกองเก็บสินค้าคอนเทนเนอร์ (CY) ที่โคราชและขอนแก่น เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและลอจิสติกส์ของประเทศ

ส่วนโครงการทางอากาศ จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ การขยายสนามบินเชียงใหม่และภูเก็ต และการพัฒนาสนามบินแห่งที่ 2, สนามบินบุรีรัมย์ ยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติ ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะประกาศในเดือน ต.ค.นี้, สนามบินมุกดาหาร, สนามบินลำปาง เพื่อช่วยลดความแออัดสนามบินเชียงใหม่อีกทาง

และ 3 . ข้อเสนอโครงการใหม่ ภาคตะวันออก เสนอให้มีการพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงส่วนต่อจากสถานีอู่ตะเภาถึงระยอง ส่วนภาคกลางเสนอให้มีการพิจารณาศึกษาและออกแบบโครงการ ได้แก่ โครงการศึกษาทางหลวงแนวใหม่ 4 ช่องจราจร แยกสาย 32 RT ต.บ้านเบิก-ทางเลี่ยงเมืองลพบุรี (หมายเลข 336) ต.โพธิ์เก้าต้น (แยกบ่อเงินปลาเผา) ระยะทาง 25 กม. และโครงการสะพานรถข้ามแยกสายเอเชีย (หมายเลข 32) ขาล่อง แยกขวาเข้าถนนพหลโยธิน (หมายเลข 1) แยกหลวงพ่อโอ บริเวณท่าน้ำอ้อย อ.พยุหคีรี จ.นครสวรรค์ เพื่อลดปัญหาการจราจรหนาแน่นและติดสัญญาณไฟจราจร

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัด รวมทั้งภาคเอกชนในพื้นที่ได้มีการนำเสนอขอรับการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นความต้องการของพื้นที่ในเวทีการประชุม กรอ.กลุ่มจังหวัด รวมทั้งการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ซึ่งในหลายโครงการทางกระทรวงคมนาคมได้มีการรับข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาและบรรจุอยู่ในแผนดำเนินการของกระทรวงฯ

นายกลินท์กล่าวว่า ประเทศไทยต้องเร่งจัดทำแผนแม่บทท่าเรือสําราญขนาดใหญ่และเส้นทางเดินเรือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวมีหลายแสนคนต่อปี ปัญหาคือเมื่อเข้ามายังท่าเรือแล้วไม่มีการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมต่อที่สะดวก ซึ่งปัจจุบันเรือสำราญจะเข้ามาจอดที่ท่าเรือแหลมฉบัง แต่การเดินทางออกจากท่าเรือไปยังสถานที่ท่องเที่ยวค่อนข้างไม่สะดวก

ทั้งนี้ ท่าเรือสำราญมีแบบเป็น Home Port คือเป็นท่าเรือแบบจุดต่อจุด ซึ่งต้องเป็นจุดที่มีสนามบินดีที่สามารถเชื่อมต่อนักท่องเที่ยวได้สะดวก และแบบ Port of Call เป็นท่าเรือที่เป็นจุดผ่าน มีแหล่งท่องเที่ยวรองรับ ซึ่งรัฐจะต้องเป็นเจ้าภาพ ส่วนภาคเอกชนผู้ประกอบการพร้อมที่จะร่วมลงทุน โดยเห็นว่า พัทยา ที่แหลมบาลีฮาย และภูเก็ต จะเป็นโครงการนำร่องที่เหมาะสม

เช่น หากมีเรือท่องเที่ยวจากสิงคโปร์มาประเทศไทย ควรจัดท่าเรือให้เรือแวะได้ในระยะ 200-300 ไมล์ทะเล เช่น จากสิงคโปร์มายังสงขลา-สมุย-หัวหิน-พัทยา-เกาะช้าง-กัมพูชา-เวียดนาม ส่วนฝั่งอันดามัน จากสิงคโปร์-ภูเก็ต-ระนอง เป็นต้น จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยงของไทยผ่านการเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำ (Cruise Tourism)


กำลังโหลดความคิดเห็น