xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.คงเป้าปี 61 รายได้-กำไรนิวไฮ แม้ผู้โดยสารเติบโตต่ำคาดการณ์-เพิ่มห้องน้ำ-จุด ตม.ดอนเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)  หรือ ทอท.
ทอท.คาดปิดงบปี 61 ผู้โดยสารโต 8.5% ต่ำเป้าเล็กน้อย แต่รายได้และกำไรโตตามเป้า เหตุสัดส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศตัวทำรายได้หลักยังพุ่งกระฉูด เผยแผนดอนเมืองตั้งงบเร่งด่วนลงทุน 90 ล้านเพิ่มห้องน้ำ-ตม.แก้แออัด ช่วงรอยต่อก่อนขยายเฟส 3 ส่วนภูเก็ตจ่อชงบอร์ดอนุมัติแผนลงทุนเฟส 2 ก.ย.นี้ เล็งตอกเข็มปี 63

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยาน 6 แห่งรอบ 10 เดือนแรกปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560-กรกฎาคม 2561) (ข้อมูล ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2561) ส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศและผู้โดยสารระหว่างประเทศที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 12% คือมีเที่ยวบินรวม 731,257 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 6.48 %เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผู้โดยสารรวมมีจำนวน 117,892,707 คน เพิ่มขึ้น 9.21%

ในช่วงไตรมาสที่ 4/61 นั้นได้รับผลกระทบจากการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ทำให้นักท่องเที่ยวจากยุโรปเดินทางมาไทยน้อยลง ประกอบกับอุบัติเหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้มีการยกเลิกจองโรงแรมช่วงเดือน ส.ค. โดยคาดว่าจำนวนผู้โดยสารของทั้งปี 61 จะเติบโตที่ 8.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าประมาณการที่ 9-10% เล็กน้อย

ทั้งนี้ แม้ผู้โดยสารจะเติบโตต่ำกว่าประมาณการ แต่ในส่วนของรายได้คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนและทำสถิติใหม่ โดยเป็นผลมาจากจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศเติบโตสูงมาก ซึ่ง ทอท.มีรายได้ในส่วนของค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (PSC) ที่ 700 บาทต่อคน ขณะที่ผู้โดยสารภายในประเทศเติบโตน้อยลง 1-2% เท่านั้น โดยกำไรสุทธิของ 3 ไตรมาสแรกปี 61 อยู่ที่ 1.98 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

***ดอนเมืองลงทุน 90 ล้านเพิ่มห้องน้ำ-ตม.แก้แออัดช่วงรอยต่อก่อนขยายเฟส 3

นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท.กล่าวว่า จำนวนผู้โดยสารดอนเมืองปี 61 คาดว่าจะมากกว่า 40 ล้านคน สูงกว่าปี 60 ที่มีผู้โดยสาร 37 ล้านคน โดยปีนี้ผู้โดยสารระหว่างประเทศเติบโตสูงมาก 10-20% ขณะที่ผู้โดยสารในประเทศโตเพียง 3-4% ส่วนขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารรองรับได้ที่ 30.5 ล้านคน จึงได้มีแผนพัฒนาดอนเมืองระยะที่ 3 เริ่มปี 2563-2567 วงเงินลงทุน 37,590.246 ล้านบาท ขยายขีดความสามารถเป็น 40 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี

โดยจะมีการรื้ออาคารผู้โดยสารภายในประเทศ (หลังเดิม) พร้อมอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 เพื่อก่อสร้างเป็นอาคารผู้โดยสาร อาคาร 3 มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 18 ล้านคนต่อปี หลังจากนั้นจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เมื่ออาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 และอาคาร 2 แล้วเสร็จจะรองรับผู้โดยสารภายในประเทศรวม 22 ล้านคนต่อปี จะเพิ่มหลุมจอดเป็น 142 หลุมจอด และติดตั้งสะพานเทียบเครื่องบินเพิ่ม 11 ชุด รวมทั้งเพิ่มที่จอดรถยนต์จาก 4,475 คัน เป็น 5,736 คัน

และการก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสารบริเวณลานจอดสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (Association of Thai Travel Agents : ATTA) สนามบินดอนเมือง งบประมาณ 207,106,739 บาท เพื่อแก้ไขปัญหาความคับคั่งในระยะสั้น อยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้าง คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จให้ทันช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562

นอกจากนี้ จะมีการขยายห้องโถง Bus Gate พื้นที่ประมาณ 950 ตารางเมตร สำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ การขยายพื้นที่ตรวจหนังสือเดินทางของผู้โดยสารขาเข้าและขาออกอีกประมาณ 220 ตารางเมตร พร้อมติดตั้งเคาน์เตอร์ตรวจหนังสือเดินทาง (ทั้งขาเข้าและขาออก) อีก 20 ช่องตรวจ เพิ่มการรองรับได้จาก 2,000 คน/ชม. เป็น 3,000 คน/ชม. งบลงทุนประมาณ 5-6 ล้านบาท ปรับปรุงห้องน้ำและเพิ่มเป็น 3,000 ห้อง วงเงินลงทุนกว่า 80 ล้านบาท แล้วเสร็จต้นปี 62 และการก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์ที่จะสามารถรองรับรถยนต์ได้เพิ่มอีก 2,000 คัน

สำหรับอาคารบริการผู้โดยสารบริเวณลานจอด ATTA เป็นอาคารโครงสร้างเหล็ก 2 ชั้น สูงประมาณ 20 เมตร มีพื้นที่รวมทั้งหมด 6,300 ตารางเมตร แบ่งเป็น ชั้น 1 เพดานสูงประมาณ 8.70 เมตร มีพื้นที่ใช้สอย 2,700 ตารางเมตร เป็นพื้นที่รอขึ้นรถบัส และพื้นที่พักรอผู้โดยสาร พร้อมที่นั่งพักคอย 400 ที่นั่ง และห้องน้ำ 2 จุด บริเวณด้านหน้าอาคารเป็นช่องจอดรถบัส 16 คัน ส่วนชั้น 2 มีพื้นที่ใช้สอย 3,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่พักรอผู้โดยสารทั้งหมด ซึ่งเชื่อมต่อกับชั้น 3 ของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 มีที่นั่งพักคอย 400 ที่นั่ง ห้องน้ำ 2 จุด และเคาน์เตอร์คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund) จำนวน 7 ช่องตรวจ

***ชงแผนพัฒนาภูเก็ตเฟส 2 เข้าบอร์ด ก.ย.นี้ เล็งตอกเข็มปี 63

เรืออากาศโท สัมพันธ์ ขุทรานนท์ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต (สายปฏิบัติการและบำรุงรักษา) ทอท. กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้โดยสาร 17-18 ล้านคน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีโครงการพัฒนา ได้แก่ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน 2559 การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ โดยได้ปรับปรุงเสร็จแล้วและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 รองรับผู้โดยสารได้ 12.5 ล้านคนต่อปี โดยสามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศในชั่วโมงคับคั่งได้สูงสุด 4,800 คนต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารภายในประเทศในชั่วโมงคับคั่งได้สูงสุด 2,400 คนต่อชั่วโมง

ส่วนด้านกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ได้จัดสรรพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศพื้นที่ประมาณ 5,900 ตารางเมตร โดยมีการแบ่งการบริหารจัดการพื้นที่เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) การให้สัมปทานรายเดียว (Master Concessionaire) มีบริษัทเอกชนประกอบกิจการโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์บนพื้นที่ประมาณ 2,800 ตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่ส่วนที่เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม พื้นที่ร้านจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก พื้นที่ให้บริการของผู้ประกอบการโรงแรมและร้านค้า และพื้นที่ให้บริการทางด้านการเงินและการแลกเปลี่ยนเงินตรา

และ (2) การบริหารจัดการพื้นที่โดย ทอท.บนพื้นที่ประมาณ 3,100 ตารางเมตร ประกอบด้วย ร้านจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ห้องพักรับรอง (Lounge) พื้นที่ให้บริการรับฝากกระเป๋า (Left Luggage) พื้นที่ให้บริการรถเช่า พื้นที่ให้บริการรถยนต์รับส่งผู้โดยสาร (Limousine) รถยนต์รับจ้างสาธารณะ รถแท็กซี่ พื้นที่ให้บริการเคาน์เตอร์รับสินค้าปลอดอากร (Pick-up Counter) และพื้นที่สำหรับการให้บริการด้านการสื่อสาร
 
ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินภูเก็ตระยะที่ 2 (ปี 2561-2565) โดยเป็นการต่อทางขับขนานสาย P และขยายความยาวทางวิ่ง 27 เพื่อให้สามารถรองรับเที่ยวบินจากปัจจุบันที่รองรับได้ 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เพิ่มเป็น 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง นอกจากนั้น จะมีการขยายหลุมจอดอากาศยานเพิ่มเป็น 28 หลุมจอด แบ่งเป็นหลุมจอดประชิดอาคาร 11 หลุมจอด และหลุมจอดระยะไกล 17 หลุมจอด ขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี

ขณะเดียวกัน จะดำเนินโครงการพัฒนา ระยะที่ 3 (ดำเนินการระหว่างปี 2562-2568) ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะปรับปรุงหลุมจอดอากาศยานเพิ่มเป็น 37 หลุมจอด แบ่งเป็นหลุมจอดประชิดอาคาร 19 หลุมจอด และหลุมจอดระยะไกล 15 หลุมจอด การขยายอาคารผู้โดยสารภายในประเทศให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็น 25 ล้านคนต่อปี


กำลังโหลดความคิดเห็น